ความฝันของเรามันลึกซึ้งพอรึเปล่า? – “คุณลี – อายุ จือปา” กาแฟ “อาข่า อ่ามา” โชคมาจากการลงมือทำ
“อาข่า อ่ามา” สำหรับคนที่ดื่มกาแฟหรือสนใจเกี่ยวกับธุรกิจกาแฟ ชื่อนี้น่าจะคุ้นเคยเป็นอย่างดี เพราะแบรนด์ อาข่า อ่ามา (“อาข่า อ่ามา” ที่ถูกต้องไม้เอกต้องอยู่ตรง อ. อ่างนะครับ) ถือเป็นแบรนด์ที่มีคนพูดถึงกันอย่างกว้างขวาง ด้วยวิสัยทัศน์ของ “คุณลี – อายุ จือปา” ที่ต้องการทำธุรกิจเพื่อสังคมที่ตนเองเติบโตมานั้นยั่งยืนและเติบโตได้โดยผลผลิตทางด้านกาแฟนั้นเต็มไปด้วยพลัง มีความชัดเจนและส่งต่อพลังงานบางอย่างให้ใครก็ตามที่ได้ฟังเรื่องราวของเขา
แต่กว่าจะมาถึงวันนี้ได้ คุณลี จากเด็กที่เติบโตบนเขาในพื้นที่ อ.แม่จันใต้ จ.เชียงราย ไฟฟ้า น้ำประปา ไม่มี (ตอนนี้ก็ยังไม่มี) มาบวชเรียนที่วัดในช่วงมัธยม เรียนภาษาอังกฤษโดยการไปนั่งคุยกับชาวต่างชาติที่วัดสวนดอก จนได้เริ่มทำธุรกิจกาแฟหลังจากไปทำงานให้องค์กรการกุศลอีกหลายปี ตลอดชีวิตของคุณลีคิดอยู่อย่างเดียว “จะทำยังไงเราถึงจะช่วยสังคมได้มากกว่านี้” และนี่คือเรื่องราวที่อันน่าทึ่งของชายคนนี้ที่เชื่อว่า “คนตัวเล็กๆคนหนึ่ง ก็สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับสังคมที่เราอยู่ได้อย่างยั่งยืน”
“ผมเกิดและโตที่หมู่บ้านเล็กๆที่เชียงรายครับ ตอนเด็กจำได้ว่ามีคนประมาณ 216 คน ตอนนี้ก็คงเพิ่มมาแค่ไม่กี่สิบชีวิต — ตอนเด็กๆผมมีความฝันเยอะนะโดยเฉพาะเด็กดอยแบบผมที่จะมีขอบเขตในจิตนาการ เช่น ผมฝันว่ามันจะต้องมีสักวันหนึ่งที่เราจะต้องสร้างงานและอาชีพ รวมถึงการพัฒนาคุณภาพทุกอย่างในหมู่บ้าน ตอนนั้นผมอ่านในหนังสือแล้วผมก็เห็นว่ามันเป็นไปได้ ถึงแม้ว่าตอนนั้นผมจะมองเห็นภาพไม่ชัด”
“ตอนอยู่ในหมู่บ้านผมก็คิดว่าอยากจะออกมาโบยบินแล้วก็กลับไปหยิบยื่นทุกอย่างให้กับชุมชน”
ความฝันของพี่ลีเป็นยังไงตั้งแต่ตอนที่เป็นเด็ก?
“ที่หมู่บ้านไฟฟ้ายังเข้าไม่ถึงนะครับแล้วก็น้ำก็ยังเป็นประปาภูเขา — ถ้าลองนึกภาพดูนะ ในตอนที่เราอยู่กับธรรมชาติเยอะๆเราก็จะเห็นความงดงามบางอย่างที่เราไม่ได้สร้างเองแต่ธรรมชาติสร้างขึ้นมา ถ้าเราอยากจะสร้างเราก็จะคิดว่าเราอยากตอบแทนยังไง และในตอนนั้นเรามีโอกาสได้เรียนหนังสือ เราก็ได้เห็นว่ามันมีรถไฟ มีเครื่องบิน สิ่งเหล่านี้ตอนนั้นมันเป็นแค่ภาพ สิ่งแรกที่ผมคิดเลยตอนนั้นผมไปขอแม่ว่าถ้าจะไปในเมืองของไปด้วย อยากไปนั่งข้างๆถนนแล้วดูรถที่วิ่งผ่าน อยากเห็นรถวิ่งผ่านว่ามียังไงบ้าง”
“ตอนที่ผมลงไปตอนนั้นประมาณ 8 ขวบ พอผมไปดูแล้วผมก็ประหลาดใจที่เห็นรถสิบล้อ เห็นรถเต่า เห็นความเร็ว ตอนนั้นพอมาเห็นในหนังสือเรียนอีกครั้งผมก็เห็นละว่ามันวิ่งยังไง กลิ่นของน้ำมันเป็นอย่างงี้ความรู้สึกอย่างนี้ ซึ่งไอ้สิ่งพวกนี้มันทำให้ผมคิดว่ามันคือสิ่งที่จำเป็นต้องชีวิตมาก เพราะเราจะได้รู้ว่าร้อนไหม กลิ่นดีไหม สัมผัสดีไหม สมัยนั้นผมคิดว่ามันคือการวิจัยแบบหนึ่งซึ่งตอนนั้นไม่รู้หรอกว่ามันคือการวิจัย เพราะฉะนั้นไอ้สิ่งเหล่านี้มันทำให้เรารู้สึกว่าโชคดีกว่าพ่อแม่หรือเพื่อนที่ไม่มีโอกาสได้เรียน”
“ผมรู้สึกว่าถ้าผมมีโอกาสขนาดนี้ ผมจะทำอะไรได้บ้าง”
“ผมมาคิดอย่างงี้ได้ในวัยที่จะเข้าสู่วัยรุ่น ผมไปเจอตอนที่ผมไปอยู่ในวัด — ตอนนั้นทุกอย่างต้องธรรมชาติและเรียบง่ายแต่พอมาอยู่ในโรงเรียนเราก็ได้เจอกับการแข่งขัน การที่เราจะต้องเก่ง ต้องเด่น แต่ข้อดีของมันก็คือสิ่งที่เกิดขึ้นในวันเดียวกันนั้นมันช่วยปรับเราให้สมดุลไม่ให้เหวี่ยงไปข้างใดข้างหนึ่ง ถ้ามันหนักก็เอาธรรมะให้กลับมาหน่อย มันเลยมาทำให้เราคิดว่าอยากเป็นวัยรุ่นแบบไหน”
“คำถามมันมีเยอะมาก เพราะผมไม่ค่อยได้อ่านหนังสือหรือเข้าถึงเทคโนโลยี สิ่งที่ผมได้เจอในตอนนั้นคือคำถามที่เกิดขึ้นมาเป็นจิ๊กซอ ที่ทำให้เห็นภาพใหญ่ขึ้น”
“ตอนอายุ 12 ผมเข้ามาเรียนเชียงใหม่ แล้วผมก็ได้ยินคนพูดถึงความหลากหลาย ความเป็นเมืองท่องเที่ยวและสิ่งหนึ่งที่ผมรู้สึกว่ามันเด่นมากคือการศึกษา และผมก็เห็นความสำคัญของการศึกษาถึงแม้ว่าตัวเองจะไม่ชอบอ่านหนังสือ ผมนั่งรถมาจากลำพูนเพื่อไปนั่งคุยกับชาวต่างชาติที่วัดสวนดอก ตอนนี้ก็ยังมีอยู่นะ”
(พี่ลีพูดแล้วก็หัวเราะ)
“ตอนนั้นเริ่มมีความฝันว่าอยากทำงานเพื่อสังคม เพื่อองค์กรระหว่างประเทศ อยากทำงานกับผู้คนทั่วโลก จากวันหนึ่งจากเด็กดอยที่เห็นภาพระดับประเทศ วันหนึ่งเราก็อยากเห็นภาพที่เป็นโลก ตอนนั้นมาก็นั่งคุยได้เลยมันจะส่วนหนึ่งที่เป็นห้องเรียนที่เราคุยกับชาวต่างชาติได้เลย”
“พอเราเจอคนจากหลายประเทศ เราได้คุยกัน ภาพที่เราเห็นในหนังสือหรือทีวี กลายเป็นว่าเราเห็นตัวเป็นๆภาพในการสร้างอนาคตหรืออาชีพเลยจริงๆและมันดิบมาก”
“สิ่งนี้ทำให้ผมเห็นว่าบทเรียนที่เป็นทฤษฎีน่ะสำคัญ แต่สิ่งที่สำคัญมากๆคือการลองผิดลองถูกและจินตนาการ การให้โอกาสตัวเองไปเจอกับสิ่งที่ไม่สะดวกเลย”
“ดิบๆแต่ลุยไปข้างหน้า”
การก้าวเข้าสู่วงการกาแฟของคุณลีไม่ใช่เป็นเส้นตรง ไม่ใช่จู่ๆวันนี้ตื่นมาแล้วอยากทำกาแฟ มันเป็นการมองเห็นจังหวะโอกาสบางอย่างและการวางแผนที่ดีด้วย
“ที่บ้านผมเริ่มปลูกตอนผมอยู่มัธยมต้นแล้วนะ ประมาณ 27 ปีละ ตอนนั้นผมรู้สึกว่าอาชีพที่เรามีในหมู่บ้านถูกยกระดับไปอีกขั้นแล้ว เพราะตอนนั้นในยุคผมเติบโตเขาก็มีคนเข้ามาจากหลายๆที่ หนึ่งในพืชผลที่เรามีคือผลไม้ และอีกอย่างที่ๆเราอยู่เหมาะมากที่จะปลูกกาแฟหลายคนก็เลยบอกว่าเอากาแฟไปปลูกสิ ไม่ได้มีใครที่สนใจว่าวันหนึ่งจะกลายเป็นอาชีพ”
“ตอนนั้นกาแฟได้รับความนิยมในตลาดโลกขึ้น ไทยก็ได้รับส่วนแบ่ง กาแฟเป็นไม้ยืนต้น ปลูกกับต้นไม้อื่นๆได้เก็บเกี่ยวได้หลายๆปีทำให้กาแฟเป็นที่นิยมในกลุ่มเกษตรกรในที่สูงมากขึ้น แต่ก็ไม่รู้หรอกว่าทำไมต้องกาแฟ แต่พอมาเป็นรุ่นผมเราก็สงสัยว่าทำไม”
“ผมอยู่เชียงใหม่ก็สงสัยว่าทำไมกาแฟมันขม ทำไมคนชอบกิน ทำไมต้องกินทั้งที่ปากทีราคามันแพงกว่าอาหารด้วยนะ”
“การจะพัฒนาชุมชนมันต้องมีปัจจัยอะไรบ้าง พอเราได้เรียนหนังสือเราก็ได้รู้ว่าที่จริงแล้วกระบวนการทำงานมันไม่ใช่ซับซ้อนขนาด แค่ต้องจัดวางพื้นที่ผลไม้ กาแฟ ชา ที่บ้านของเราเนี่ย ให้เกิดการแบ่งปันในเชิงสร้างอาชีพ วิธีนั้นก็ง่ายๆเลย เริ่มจากที่ชาวบ้านคิดว่าจะเก็บผลผลิตอย่างไรตามฤดูกาล เราก็มาดูว่าช่วงหน้าหนาวต้องเก็บกาแฟนะ ช่วงต่อไปเก็บผัก เก็บผลไม้ เก็บชานะ ตรงนี้จะทำให้เราทำงานอยู่ในสวนแต่จะมีรายได้เข้ามาทุกเดือน ทุกปี สิ่งเหล่านี้คือการสร้างภาพที่เป็นจริงได้ –คนหนึ่งผมรู้สึกว่าต้องขอบคุณคือสมเด็จย่า ที่พระองค์ลงมาแล้วทำงานด้านการศึกษาและพัฒนาอาชีพที่บนดอย ทำให้ทุกคนเข้าถึงการศึกษาที่ดี จนมาถึงในหลวงรัชกาลที่ 9 เราได้รับพระราชทานมากมาย ถ้าไม่มีท่านตอนนี้คงไม่ได้มาไกลขนาดนี้”
“ก่อนจะเป็นอาข่าอ่ามา ผมก็ไปเริ่มทำงานกับองค์การระหว่างประเทศ ตามความฝันผมโชคดีมากที่ได้ทำงานในองค์กร 3 ปีกว่า ผมได้เดินทางไปหลายๆที่โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีภัยสงคราม ความอดยาก ผมก็ได้ไปช่วยสร้างโรงเรียนและศูนย์อนามัยขั้นพื้นฐาน มันทำให้ผมรู้สึกว่าผมโชคดีและได้รู้คุณค่าของโอกาส ว่าถ้าเรามีโอกาสเราต้องรีบทำ”
“เวลาเราทำไปเราก็ได้เจอสายงานอาชีพเยอะ มันทำให้เราได้เรียนรู้ไวและได้เจอกับคนที่มีประสบการณ์ แล้วเอาตรงนั้นมาเขียนแผนเป็นความฝันของอาข่าอาม่า ผมคิดว่านี่เป็นจุดเริ่มต้นที่มีคุณค่ามากๆในชีวิตที่เราต้องได้เดินทางออกไปเจอผู้คนและงานที่เราใฝ่ฝัน ซึ่งเป็นที่ที่เราได้เก็บเกี่ยวและเราก็มาถอดประสบการณ์พวกนั้นออกมาเป็นเส้นทางที่เราต้องเดินต่อ”
“มันไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ในเมื่อเราไม่เคยกินกาแฟเลย แล้วเราจะทำยังไงให้กาแฟที่ทุกคนกินถูกยกระดับทั้งชีวิตและรสชาติ นั้นก็เลยกลายเป็นสิ่งที่ต้องทำ ต่อให้ไม่มีคนมาบังคับเราก็รู้สึกว่าเราต้องเพิ่มคุณค่าให้มากๆ มูลค่าต่างมันมาอยู่แล้ว เราเลยรู้สึกว่าเราอยากทำให้สำเร็จและมองว่าเป็นสิ่งที่เราต้องทำ”
“ช่วงที่ผมมาทำมันเป็นช่วงที่เชียงใหม่เริ่มมีปัญหาเศรษฐกิจจากหลายๆที่ทั้งในและต่างประเทศ ทุกคนก็มีข้อจำกัดในการเที่ยวเมืองไทยและเชียงใหม่เป็นเมืองที่พึ่งพาการท่องเที่ยวเยอะมาก งานบริการต่างๆมันเลยเป็นสิ่งที่ท้าทายสำหรับเรา มันเลยเป็นข้อท้าทายว่าอาชีพนี้เนี่ย”
“ตอนนั้นมันมีแรงขับบางอย่างที่รวมมา เราคิดว่าสิ่งที่เราคิดเนี่ยไม่ได้เพื่อตัวเองแต่เพื่อผู้คน การที่เราจะไปคิดแบบนี้มันคือการเพิ่มภาระบางอย่างให้กับตัวเอง และเพื่อตัวเองแล้วคนอื่นจะเดือดร้อนไหม — ตอนที่เราไปคุยเราก็เหมือนสร้างความหวังให้คนหรือเปล่า เราจะทำให้เขาผิดหวังไหม มันเลยเกิดเป็นระบบที่เราคิดขึ้นมาว่าต้องมีแผนที่ดี มีกลยุทธ์ที่ดีและคล่องตัวในการปรับเปลี่ยน”
“การที่เราจะทำอะไรพวกนี้มันเป็นเรื่องของการวางแผนที่ดี ถ้าเราได้จัดวางระบบในความคิดเราที่ดีเพราะเราเริ่มต้น 24 ชั่วโมงเหมือนกัน ถ้าเราเรียงลำดับระบบได้ดีมันจะไม่เหมือนกับการที่ไม่ได้วางแผน เราจะเลือกเอาอะไรระหว่างคนที่มีระบบที่ดีหรือคนที่ไม่มีกระบวนท่าอะไรเลย”
อุปสรรคที่คุณลีเจอและคิดว่าถ้าย้อนกลับไปได้อยากทำให้ดีกว่านี้
“อุปสรรคที่คิดว่าน่าจะทำได้ดีกว่านี้ จริงๆแล้วเนี่ยอุปสรรคมันมีกันทุกอาชีพ ปัญหาก็ไม่เหมือนกัน อุปสรรคของผมตอนนั้นก็คือเรื่องของความรู้ การเป็นผู้ทำเพื่อสังคมมาสู่การเป็นผู้ประกอบการมันไม่ใช่เรื่องง่ายและยิ่งต้องมาเป็นผู้ประกอบการที่ทำเพื่อสังคมอีก มันเลยเป็นคำถามว่าผมจะหนักไปทางไหน”
“หลายๆครั้งผมไปติดภาพเรื่องการทำเพื่อสังคมมาผมก็คิดไม่ออกถึงการเพิ่มมูลค่าได้ สำหรับผมมันเป็นเรื่องที่ลำบากใจมาก”
“เวลาที่ทำงานชิ้นหนึ่งเราไม่คิดแค่ว่ามันเป็นสินค้าที่เราอยากทำเพื่อตัวเอง มันเริ่มจากชุมชนเพราะฉะนั้นการสร้างนิเวศน์การประกอบการโดยมีส่วนร่วมของผู้คนในชุมชนจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ พอมีส่วนร่วมของนิเวศน์ในชุมชนมากขึ้นสิ่งที่เราได้ก็คือความคิดที่หลากหลาย แนวคิด ประสบการณ์และแนวร่วม เราได้เรียนรู้ปัญหาชีวิตของทุกคน โจทย์มันเหมือนจะเป็นปัญหานะแต่ถ้าเราเอามากองแล้วทำด้วยกันมันจะสนุกมาก”
“เราไปคลุกกับวงของปัญหาทั้งหมดเพื่อให้มันดีขึ้น โดยที่ไม่ลืมว่าทุกคนต้องกินต้องอยู่และเกิดเป็นสินค้า สินค้าที่ออกมาก็เลยไม่ควรจะเป็นสิ่งที่ด้อยคุณภาพ ต้องเป็นสิ่งที่ใครๆกินต้องรู้สึกว่าน่าชื่นชม น่าสนับสนุน ไม่ใช่ไอ้นี่มันทำดีไปซื้อมันหน่อย ไม่อร่อยก็ซื้อแล้วค่อยไปทิ้ง มันก็จะกลายเป็นขยะ เพราะฉะนั้นเวลาเราทำเราต้องคิดถึงสองส่วน อย่างเราทำด้วยใจ และ คนที่ช่วยสนับสนุนเพื่อส่งต่อความยั่งยืนกลับไป คนที่มาซื้อซ้ำๆเพราะของเราดี เพราะฉะนั้นรายได้ที่กลับมาเราเลยไม่ต้องไปขอคนอื่น อาจจะมีบางทีต้องขอแต่เราก็ต้องบาลานซ์ และส่งเสริมให้เขาเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน”
“สำหรับคนที่เริ่มต้นอาจจะฟังดูยากนะ อย่างเราทำมาสิบกว่าเราเลยพูดได้ว่าเป็นแบบนี้แต่สำหรับคนที่เริ่มต้นก็ต้องเริ่มจากแผนที่ดีโดยไม่ต้องลงทุนอะไร เราอาจจะต้องศึกษาค้นคว้า อ่า.. ละก็สมัยนี้โชคดีนะที่ไม่ว่ารัฐและเอกชน เขาจะมี Funding ต่างๆเข้ามา อย่างผมก็ใช้วิธี Pitching มาเพื่อหาคนร่วมลงทุน”
คุณลีเล่าให้ต่ายฟังว่าอาข่าอาม่าก็เหมือนเป็นสตาร์ทอัพตัวหนึ่ง ไปพิชได้ทุนมาเริ่มต้นทำธุรกิจ
“คำถามจริงๆไม่ใช่แค่ว่าเราไม่มีเงินแล้วจะเริ่มได้ไหม แต่มันคือเรามีแผนที่ดีหรือเปล่า เรามีความฝันที่ลึกซึ้งพอไหม เรากล้าที่จะสละความสะดวกสบายและไปคลุกวงในในสิ่งที่เราอยากทำอยากแก้ปัญหาจริงหรือเปล่า”
มีบ้างไหมความรู้สึกที่ว่าวันนี้ไม่ไหวแล้ว เพราะแน่นอนว่าเราต้องเป็นเหมือนคนที่ต้องแบกรับความรับผิดชอบและความคาดหวังของคนอื่นไว้บนบ่า ต้องทำให้ธุรกิจเรารอดให้ได้?
“มันมีแว๊บ ๆ บ้างนะ ความรู้สึกว่าไม่ไหวแล้ว แต่ทุกครั้งที่เรามีความคิดแบบนี้มันย่อมมีคำถามกลับมาว่า แล้ววันแรกที่เราเริ่มทำ ทำเพราะอะไร และสิ่งที่เกิดขึ้นทำเพราะอะไรและมันหล่อเลี้ยงจิตใจและความฝันเราไหมมากกว่าจะไปคิดว่าเราสะดวกสบายหรือเปล่า ไอ้สิ่งเหล่านั้นมันเกิดกับวัยรุ่นอย่างเราทุกคน แต่ถ้าเราข้ามพ้นวิกฤตทางความคิดแบบนั้นได้หรือวันนี้เราเจอปัญหาหนักๆ แต่ถ้าเราใส่ใจมันดูแลปัญหานั้นดีๆพรุ่งนี้มันก็จะไม่เกิด”
“ความคิดที่เป็นบวกแบบนี้สำคัญมากๆไม่ต้องพูดเป็นคำพูดออกมาก็ได้ แค่คิด — หลายคนถึงพูดถึงทัศนคติ ความคิดที่เป็นเชิงบวกและการวางแผนที่ดี สิ่งเหล่านี้เกิดจากความรู้สึกภายในและภายในเหล่านี้คือพลังงานที่ถ่ายทอดออกมาและเกิดเป็นการกระทำ”
“ปัญหาที่เราเจอมาก็จะเป็นการตรวจสอบจุดยืน เราอาจจะลืมตรงนี้ไปได้แต่ชุดคำถามพวกนี้มันจะทำให้เราต้องตอบว่ารู้สึกยังไง เจอมานานหรือยัง จะไปต่อยังไง อย่างช่วงโควิดหลายคนนั่งเหม่อเลยก็มีนะ แต่ถ้าวันนี้เราไม่ถามว่าจะไปต่อยังไง และเอาแต่นั่งคิดไปเองว่าเราก็คงไม่ต่างกันก็อันตรายอยู่”
“แต่สิ่งที่ต้องคิดคือถ้าวิกฤตมาแบบนี้เราจะไปต่อยังไง เราต้องเริ่มเทคแอคชั่นว่าในเมื่อเราเจอปัญหานี้มันจะยาวไหม เราจะรอดไหม และถ้าไม่รอดจะเป็นยังไงหรือจะทำยังไงกับสิ่งที่เรามีอยู่ตอนนี้ เท่านี้ ให้ปลอดภัยที่จะไปต่อโดยที่เรายังไม่ต้องคาดหวังมากมายว่าเราจะต้องสะดวกสบายเหมือนที่โควิดมา เราต้องมีสติและรู้อยู่เสมอว่าสิ่งเหล่านี้เป็นยังไง”
“อย่างองค์กรใหญ่ๆเนี่ย อันตรายมากเพราะการคล่องตัวในการปรับตัวมันจะแข็งมากและความแข็งของสิ่งเหล่านั้นจะทำให้คนเริ่มเสียกำลังไป”
ความแตกต่างของเด็กยุคใหม่กับรุ่นก่อนเป็นยังไงครับ?
“ความฝันของเด็กดอยในตอนนี้จะลงมาเพื่อเรียนๆแล้วไปสร้างอาชีพ มีที่ มีฟาร์ม มีโปรดักส์ มีนวัตกรรมเป็นของตัวเอง จากนั้นก็จะกลับสู่ภูมิลำเนาของตัวเองโดยที่มีอาชีพที่หยั่งยืน บางคนแบกเงินสดไปซื้อรถมาเลย สิ่งเหล่านี้เกิดจากการที่เขาเรียนรู้จากประสบการณ์จากในเมือง เราเคยเห็นแล้วว่าหลายติดภาระเรื่องหนี้สิน เขาก็ไปเก็บออมแล้วก็กลับบ้านมาสร้างอาชีพ”
“ทุกวันนี้คนพัฒนาสายพันธุ์ คนคั่ว คนปลูกก็อยู่บนดอยอยู่ที่บ้านหมดเลย เศรษฐกิจเหล่านี้เกิดจากประสบการณ์ที่เราทำร่วมกันแล้วทุกคนเห็นแล้วมาช่วยกันทำ ภาพที่เกิดขึ้นจึงเป็นพวกเราที่ทำร่วมกัน ไม่ใช่แค่ ลี แล้วนะ”
“มันมีช่วงเวลาหนึ่งนะที่เรารู้สึกว่าเราไปที่ไหนคนก็เริ่มรู้จักเรา อาจจะสักปีที่สามปีที่สี่ ช่วงเวลานั้นเป็นช่วงที่วัฒนธรรมการกินกาแฟเริ่มกลับมาจากคนที่ไปเรียนต่างประเทศและประกอบการบริการ คนเหล่านี้เขาเอาวัฒนธรรมบางอย่างที่เกี่ยวกับกาแฟกลับมา ตอนแรกที่ผมมาทำร้านที่เชียงใหม่ ตอนแรกร้านกาแฟมีไม่ถึง 20 ร้าน มีแค่ 10 ต้นๆ คนเริ่มมาใช้ชีวิตโดยการออกมาจากโรงแรมและภัตตาคาร เพราะเขาเริ่มเห็นว่าคุณภาพของกาแฟที่เสิร์ฟนอกโรงแรมเริ่มดีกว่า”
“ในตอนแรกที่เราเขาก็ถามว่ากาแฟไทยมันดีกว่าหรือเปล่า ตอนนั้นคนก็กินบราซิล เคนย่า โคลอมเบีย”
“ผมว่ามันเป็นเรื่องที่ดีนะ ที่ผมได้มีส่วนผลักได้สินค้าของไทยให้ดีขึ้น พี่ๆที่ผมรู้จักหลายคนเริ่มบริโภคกาแฟนอก แต่พอเห็นกาแฟไทยที่ดีขึ้น”
“เมื่อกาแฟเราดีดไปถึง specialty coffee หรือกาแฟพิเศษ จนทำให้คนที่ทำกาแฟเองเริ่มโปรเซสกาแฟที่ดีและอยากทำให้ดีขึ้น เพราะเราได้รับการยอมรับ คนที่เป็นเกษตรกรก็จะเชิ้อมั่นในตัวเองมากขึ้น เราไม่จำเป็นจะต้องทำคนเดียว มีอะไรที่เราทำอยู่แล้วมันดีก็ต้องบอกต่อ เวลาที่มีปัญหาก็จะช่วยกัน คนที่มากินกาแฟตั้งแต่วันแรกจนวันนี้ก็มี”
เล่าถึง Andy Ricker หน่อยครับ เชื่อว่านี่คือบุคคลที่เปลี่ยนโลกกาแฟของคุณลีเลย
“ผมรู้จักเขาเข้าโดยบังเอิญ ตอนนั้นเพื่อนของผมเขารู้จักเชฟแอนดี้ แล้วเขาก็มาช็อปปิ้งของเพื่อจะส่งไปที่อเมริกา ตอนนั้นเราก็ไม่รู้จักเขาหรอก เขาก็มากินกาแฟแล้ว ตอนนั้นเราก็ว่างเนาะ (หัวเราะ) เราก็เลยไปคุยกับเขาแล้วเขาก็สนใจ เราก็ไม่รู้ว่าเขาเป็นใคร”
“ตอนนั้นแกก็เล่าเรื่องประสบการณ์ชีวิตของเขาให้เราฟัง การได้มาที่ภาคใต้และได้หลงใหลในอาหารไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตอนแรกก็เปิดบริษัททาสีแล้วก็มาเปิดร้านอาหารของตัวเอง เชฟแอนดี้เป็นคนที่เล่นดนตรีเก่งมาก แล้วก็ยังเป็นคนที่น่าทึ้ง และเล่าเรื่องราวของเขาหรือเรื่องกาแฟที่อเมริกาว่าเป็นยังไง ตอนนั้นเราก็สนใจเพราะเราศึกษาเว็บจากต่างประเทศเราก็อยากเรียนรู้เพราะเราศึกษาจากเว็บไซต์ เราก็อยากเรียนรู้จากอเมริกา”
“สิ่งที่ทำให้รู้ว่าโลกกลมมากๆก็คือวันที่เขาถามว่าถ้าลีจะพัฒนาทักษะของกาแฟ ลีอยากไปเรียนที่ไหน ด้วยความที่เราติดดูยูทูปพวกพอร์ตแลนด์ เราก็รู้ว่าที่อเมริกาที่พอร์ตแลนด์ก็มีร้าน Stumptown Coffee Roasters ที่น่าสนใจและมีแนวทางเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรเหมือนของเราเลย”
“ตอนนั้นแกก็ไม่ได้บอกอะไร กลับมาอีกทีแกก็บอกว่าแกมีเพื่อนสนิทคนหนึ่งที่ทำเรื่องนี้อยู่ ถ้าเราเอาจริงเดี๋ยวเขาจะถามให้ก็ได้นะว่า อยากหาคนไปฝึกไปเรียนรู้ไหม เราก็เลยขอให้แอนดี้ช่วยคุยให้หน่อย เราเป็นลูกค้าเกษตรกร เราอยากเรียนรู้ว่ากาแฟทำยังไง เราอยากช่วยเหลือชาวบ้าน แล้วแอนดี้ก็กลับไป”
“ผ่านไปเดือนสองเดือน แอนดี้ก็อีเมล์มาว่า เขารับอยู่นะสนใจจะมาไหม ทำวีซ่ามาสิ เราก็ไม่รู้เรื่องอะไร ตอนนั้นก็ตื่นเต้นก็คิดนะว่าฝรั่งเขาจะดูถูกเราไหม ด้วยความที่เป็นเด็กดอย ตอนนั้นก็ไปทำวีซ่าก็ได้วีซ่าสิบปี แอนดี้ก็บอกว่าดีมาก วันดีคืนดีแกก็ส่งตั๋วเครื่องบินมา เราก็ถามว่าจะทำยังไง เขาก็บอกว่าก็บินมาเลย แล้วเราจะนอนจะกินที่ไหน แกก็บอกว่าไม่เป็นไรมากินที่ร้านฉัน นอนที่บ้านฉันก็ได้ พอไปถึงแกก็ส่งรถมารับ แล้วก็พาไปที่บ้านแล้วก็บอกเขาว่าต้องไปฝึกคั่วกาแฟชงกาแฟแล้วนะ แกก็เอาบัตรกินอาหารมาให้เพราะแกใส่เป็น Voucher ให้ ตอนนั้นพอไปถึงคนเขาก็ถามว่ามาจากที่ไหน มาจากเมืองไทยหรือเปล่า เราก็บอกว่ามาจากเมืองไทย มาฝึกงานที่ Stumptown Coffee Roasters และเราพักอยู่กับเชฟแอนดี้ ตอนเราพูดชื่อเขาทุกคนก็รู้จักด้วยความที่เขาเป็นเชฟแอนดี้ทุกคนก็รู้จักเขา และพอบอกว่ากินข้าวที่ป๊อกๆ (POK POK) เขาก็บอกว่าอู้วหู้ว ปกติต้องต่อคิวสองชั่วโมงนะ พอเป็นอย่างนั้นเราก็ยิ่งอยากจะเรียนรู้”
ตอนนั้นเราก็ได้เจอ เจ้าของ Stumptown Coffee Roasters คุณ Duane Sorenson เขาเป็นคนตัวใหญ่ใจดีมาก ๆ อ้าแขนบอกว่า ‘เวลคัม’ (หัวเราะ) และบอกเราว่าขาดเหลืออะไรก็ให้บอก ตอนนั้นเราก็ได้เรียนรู้ทุกอย่าง ทุกคนทุกแผนกที่อยู่ทุกมาวันนี้ถ้าเรากลับไป คนที่อยู่ที่นั้นก็ยังจำเราได้ มันเป็นความพิเศษขององค์กรที่ทำให้เรารู้สึกว่า ทุกคนดีใจที่ได้เจอกับเรา เพราะเราเป็นลูกหลานของเกษตรกร ตอนนั้นหัวใจเราพองโต เราอยากรู้อะไรเราถามหมดเลย”
“แม้การจะฝึกคั่ว เขาก็เอากาแฟที่ดีที่สุดมาให้เราคั่ว หัวหน้าเราก็บอกว่าถ้าฝึกคั่วกาแฟเลวๆจะรู้ได้ยังไง อันนั้นคือสิ่งที่เรารู้สึกว่ามันไม่มีการลงทุนอะไรแล้วเสียเปล่า”
“ผมว่าอีกอย่างที่เราไม่ควรจะลืมคือกัลยาณมิตรที่เราเจอในรอบข้าง เพราะเราไม่มีทางรู้หรอกว่าคนรอบข้างรู้สึกยังไง มีประวัติเป็นยังไง จนวันหนึ่งเราได้ไปเจอโลกกว้างเราก็เลยอยากกลับมาพัฒนาบ้านเราให้ดีขึ้น”
ถ้าไม่มีอาข่า อ่ามา คุณลีจะทำอะไรอยู่ตอนนี้?
“ถ้าไม่มีอ่ามาผมก็คงจะยังทำงานเพื่อสังคมอยู่เพราะผมเป็นคนที่ชอบทำงานเพื่อสังคมอยู่แล้ว มันยังมีหลายอย่างที่อยากทำ หรืออาจจะทำฮาร์ดแวร์สโตร์ทพวกเครื่องมือช่าง เพราะผมชอบเครื่องมือช่าง ผมสามารถเข้าไปในร้านแล้วอยู่ได้ทั้งวันเลยนะ มันแปลกดีเหมือนกัน หรือไม่ก็ทำเรื่องผลไม้เพราะครอบครัวผมปลูกผลไม้ และทำพวกผลไม้อบแห้ง หรือของที่ใส่ในโยเกิร์ต อาหารเช้า”
อีก 5 ปีต่อจากนี้เห็น อาข่า อ่ามา ไปทางไหน?
“อาข่าอ่ามาได้อีก 5 ปีข้างหน้า ผมว่าจริงๆแล้วมันก็ไม่ได้ไกลนะ ผมอยากมีโรงคั่วที่ญี่ปุ่นเพราะตอนนี้มีสาขาที่ญี่ปุ่นแล้ว ไม่แน่ก็อาจจะอยากไปผจญภัยในเรื่องการทำร้านที่ยุโรป ที่ผมคิดๆอยู่อาจจะมีโคเปนเฮเกนหรือเนเธอแลนด์ และถ้าในไทย 5 ปีต้องมี Project Origin รวบรวมสายพันธุ์กาแฟเพื่อให้เกษตรกรที่อยากเรียนรู้หรือพัฒนาอาชีพกาแฟให้ได้มีการเรียนรู้หรือพัฒนาสายพันธุ์ ตอนนี้ก็เริ่มเปิดแล้วนะครับเพราะต้นกาแฟโตแล้ว อันนี้เรียกได้ว่าเป็นโปรเจ็คท์ระดับประเทศเลย อีกอันหนึ่งก็คือกาแฟอาข่าอ่ามาในไทยจะมีคลาสแบ่งปันประสบการณ์ทั้งฟรีและจ่ายเงิน ก็จะเป็นคลาสในเรื่องกาแฟที่หลากหลายการคั่ว การชง”
“สิ่งที่เกษตรกรต้องการแต่ยังขาดก็คือ ขาดความเข้าใจในสายพันธุ์กาแฟ อาจเพราะเขาเข้าถึงได้น้อย สายพันธุ์กาแฟต้องเป็นสายพันธุ์ที่ปลูกแล้วอร่อยนะ ไม่ใช่ปลูกอะไรก็ได้ อีกข้อก็คือวิทยาการหรือนวัตกรรมที่ต้องมีเข้ามาช่วย อย่างบ้านเราความชื้นสูงมาก ความชื้นสัมพันธ์ที่สูงเนี่ย บางทีในการทำอาจทำให้เกิดเชื้อราหรือเข้ากระบวนการต่างยาก ทำให้เราจำเป็นต้องมีโรงตักกาแฟหรือสภาวะการสร้างบรรยากาศการตักกาแฟที่ดี”
“ที่อาข่าอ่ามามาถึงตรงนี้เป็นเพราะโชคหรือความสามารถ จริงๆแล้วลีเชื่อในเรื่องของโชคพอสมควรแต่เรื่องโชคเนี่ยมันจะไม่เกิดกับคนที่ไม่ทำอะไรเลย เพราะฉะนั้นโชคเลยเป็นของคนที่เสียสละและยอมอดทนทำงาน ยอมฝึกฝน เพราะฉะนั้นถ้าถามว่าเชื่อไหม เชื่อ แต่ถ้าใครอยากเชื่อเหมือนผมหรือว่าอยากให้โชคเกิดกับตัวเองก็ต้องลงมือทำ”
“มันมีหลายครั้งที่เราอาจจะเฟล แต่มันทำให้เรามีประสบการณ์เกิดขึ้น บางทีเราอาจรู้สึกว่าเดินวน แต่รอยเหล่านั้นมันจะกว้างขึ้นและโตขึ้นเหมือนวงปีของต้นไม้ ผมเชื่อว่าหลายๆคนที่ลงมือทำและทะเยอทะยานเขาจะรู้ว่ามันเป็นเรื่องจริง”
ช่องทางติดต่อ
Website : http://www.akhaamacoffee.com/
Facebook Fanpage : Akha Ama Coffee
Maps : สาขาสันติธรรม
TEL. : 088 267 8014