การตลาด 5.0 เทคโนโลยีเพื่อมวลมนุษยชาติ
แนวคิดการตลาดมีการพัฒนาและเปลี่ยนผ่านจากเดิมมาตลอด โดยอิงการพัฒนาอุตสาหรกรรมของมนุษยชาติ โดยแนวคิดการตลาดเริ่มจากการตลาดที่มุ่งผลิตภัณฑ์ (การตลาด 1.0) ไปสู่การตลาดที่มุ่งผู้บริโภคเป็นสำคัญ (การตลาด 2.0) และก้าวสู่การตลาดที่มองมนุษย์เป็นศูนย์กลาง (การตลาด 3.0) จนมาถึงการตลาดดิจิตอล 4.0 ที่เป็นเทคโนโลยีกระแสหลักภายหลังการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 นักการตลาดต้องปรับตัวเข้าหา New Normal ซึ่งกลายมาเป็นระเบียบโลกใหม่แห่งยุค แต่ขั้นต่อไปของการตลาดคืออะไร?
การตลาด 5.0 : เทคโนโลยีเพื่อมวลมนุษยชาติ จะเป็นช่วงที่ภาคธุรกิจใช้พลังเทคโนโลยีอย่างเต็มที่ในการวางกลยุทธ์ กลวิธีและการดำเนินธุรกิจทางการตลาด โดยแนวคิดการตลาด 5.0 นี้มาจากสังคม 5.0(Society 5.0) ซึ่งเป็นแนวคิดที่รัฐบาลญี่ปุ่นกำหนดแผนที่ทางเทคโนโลยีอัจฉริยะในการสร้างสังคมที่ยั่งยืน
นิยามของการตลาด 5.0
นิยามของการตลาด 5.0 คือการใช้เทคโนโลยีที่เรียกว่า next tech หรือเทคโนโลยีที่สามารถเลียนแบบมนุษย์มาใช้ในการสร้าง สื่อสาร ส่งมอบหรือเพิ่มมูลค่าในการบริโภค เช่น การใช้ปัญญาประดิษฐ์ NLP เซ็นเซอร์ หุ่นยนต์ ความเป็นจริงเสริมหรือ AR (Augmented Rality) ความเป็นจริงเสมือน (Virtual Reality) IoT (Internet of Things) และบล็อกเชน (Blockchain)
จริงๆแล้วมันไม่ใช่เรื่องใหม่ที่เทคโนโลยีช่วยให้เราเรียนรู้ข้อมูลผู้บริโภคและจัดระบบหรือค้นหาข้อมูลเชิงลึกที่เป็นประโยชน์ให้กับนักการตลาด การวิเคราะห์ข้อมูลมหาศาลเชิงลึกช่วยให้นักการตลาดวางกลยุทธ์การตลาดให้สอดคล้องกับ การตลาดเฉพาะบุคคล (segment of one marketing) เมื่อใช้อัลกอริทึม (algorithm) มาช่วยคาดการณ์ก็จะทำให้ธุรกิจสามารถเห็นภาะผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีคุณลักษณะพิเศษบางอย่าง ช่วยให้นักการตลาดสามารถข้ามสารพัดขั้นตอนในการบวนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้ และให้ข้อมูลเชิงลึกได้เร็วกว่าขั้นตอนการพิสูจน์แนวคิดที่ต้องใช้เวลานาน
นอกจากระบบหลังบ้าน (Back office) แล้ว การตลาด 5.0 ยังใช้กับการดำเนินธุรกิจส่วนอื่นด้วยได้ด้วย เช่นการมีปฏิสัมพันธ์กับลูกค้า อย่างการใช้ Chatbot เพื่อลดปัญหาทรัพยากรบุคคลไม่ว่าจะเป็นปัญหาสังคมสูงวัยหรือค่าจ้างที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังมีผู้ค้าปลีกใช้ระบบเซ็นเซอร์และใช้ระบบอินเทอร์เน็ตจำลองประสบการณ์การซื้อในร้านค้าแบบดั้งเดิม เช่นนำระบบจดจำใบหน้ามาประเมินข้อมูลประชากรของลูกค้าเพื่อเสนอโปรโมชั่น
โดยการตลาด 5.0 นี้จะให้ความสำคัญกับความเป็นมนุษย์เป็นหลัก เพื่อให้เกิดการต่อยอด การสื่อสาร ส่งมอบและเพิ่มมูลค่าในทุกช่วง ทั้งยังมีเป้าหมายคือ “สร้างประสบการณ์ผู้บริโภค” โดยประสบการณ์นั้นต้องแปลกใหม่ ลื่นไหลและไม่ยัดเยียด มีดุลภาพความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และความฉลาดของคอมพิวเตอร์ โดย AI จะค้นหารูปแบบพฤติกรรมของลูกค้าที่ไม่เคยล่วงรู้มาก่อน
ความท้าทายของการตลาด 5.0
การตลาด 5.0 จะเกิดขึ้นโดยมีความท้าทายหลักอยู่ 3 ข้อ นั่นคือ ช่องว่างระหว่างวัย ความเหลื่อมล้ำทางการเงินและเทคโนโลยี
1.ช่องว่างระหว่างวัย : นี่เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่คน 5 รุ่นใช้ชีวิตร่วมกันบนโลก โดยยังมี Baby Boomer และ Gen X เป็นผู้มีระดับสูงสุดในธุรกิจและมีอำนาจซื้อสูงสุด ส่วน Gen Y และ Gen Z เป็นกลุ่มแรงงานจำนวนมากที่สุดและเป็นตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่ที่สุด ซึ่งการต่างกันด้านทัศนคติ ความชื่นชอบและพฤติกรรมต่างกัน ของแต่ละ Generation เป็นอุปสรรคสำคัญในการสื่อสารทางการตลาด
2.ความเหลื่อมล้ำทางการเงิน : มนุษยชาติเผชิญกับการกระจายความมั่งคั่งอย่างไม่เท่าเทียมและไร้สมดุลมานาน สิ่งนี้มันทำให้ตลาดเกิดการแบ่งขั้ว ตลาดตรงกลางเริ่มหดตัวลงเพราะด้านบนและฐานของพีระมิดกำลังขยายตัว กดดันให้ผู้เล่นในอุตสาหกรรมต้องขยับไปเล่นตลาดบนหรือตลาดล่างเพื่อรักษาธุรกิจไว้
3.ความเหลื่อมล้ำทางเทคโนโลยี :การเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิตอลทำให้เกิดช่องว่างระหว่างคนที่เชื่อและไม่เชื่อในการก้าวผ่าน โดยอาจเป็นกลุ่มที่กังวลว่าการเปลี่ยนไปสู่ดิจิตอลจะทำให้ถูกแย่งงานและละเมิดความเป็นส่วนตัว ในขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งเห็นว่าเป็นโอกาสที่จะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวและมีชีวิตที่ดีขึ้น
แนวคิดการตลาด 5.0 จึงเป็นการไม่ยึดติดเครื่องมือ โดยนักการตลาดจะประเมินธุรกิจและจะเลือกใช้ฮาร์ดแวร์หรือซอฟต์แวร์ที่มีมาใช้ด้วยวิธีใดก็ได้ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจและประสบการณ์ของลูกค้า แต่หลักสำคัญคือธุรกิจต้องมีนักการตลาดที่เข้าใจว่าควรออกแบบกลยุทธ์โดยเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสำหรับสถานการณ์การตลาดที่ต่างกัน
แม้ AI จะทำหน้าที่ประมวลผล แต่มนุษย์เท่านั้นที่จะเข้ามนุษย์ด้วยกันเอง
ข้อมูลจาก : Marketing 5.0 ของ Philip Kotler