MOOH Homemade : ร้านโดนัทโฮมเมทที่คิดต่าง กับการเติบโตแบบไม่ต้อง ‘ทะเยอทะยาน’ ตามกระแสโลก
การกลับมาพบกันอีกครั้งของต่ายและน้องหมูแนม–วรนิตย์ ปิงเมือง กับน้องเกี๊ยก–วราวัชร์ สีหะประเสริฐ ร้านโดนัทสุดฮ๊อตย่านนิมมาน MOOH – ร้านโดนัทเล็กๆที่ง่ายต่อการตกหลุมรัก
หลังจากที่ต่ายเจอน้องหมูแนมและน้องเกี๊ยกเมื่อประมาณสองปีก่อน เราก็แทบไม่ได้คุยกันอีกเลยเพราะต่างคนก็ต่างยุ่งกันมากๆ น้องๆทั้งสองก็รับมือกับการเติบโตของร้านที่เรียกว่าร้อนแรงสุดๆในช่วงที่ผ่านมา ส่วนต่ายก็….เอ่อ…ไปทำอะไรหว่าจำไม่ได้ละ
แต่การกลับมาเจอกันครั้งนี้เหมือนเป็นจังหวะที่ดีด้วย เพราะต่ายเองก็เริ่มกลับมาทำคอนเทนท์มากขึ้น น้องทั้งสองก็เพิ่งกลับมาเปิดร้านใหม่อีกครั้งหลังจากรีโนเวทเพื่อรองรับลูกค้าที่อยากมานั่งทานที่ร้านให้มากขึ้นด้วย
นอกจากเรื่องร้านที่เปลี่ยนไปแล้ว สิ่งที่ต่ายสัมผัสได้หลังจากคุยกันเมื่อครั้งแรกคือน้องๆเติบโตขึ้นเยอะมาก ทั้งแนวความคิด ความชัดเจนถึงเป้าหมายในการทำธุรกิจ จากตอนแรกที่น้องบอกว่ายังไม่รู้เลยว่ามันจะไปทางไหน แต่ตอนนี้เหมือนว่าจะมั่นคงและแน่วแน่กับเส้นทางที่ทั้งคู่เลือกแล้วว่าอยากเป็นร้านโดนัทเล็กๆที่ตื่นขึ้นมาทำขนม ขายให้กับลูกค้าขาประจำ มีความสุขแบบเรียบง่ายและเติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไปดีกว่า
การตกตะกอนทางความคิดแบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นโดยง่ายและการพูดคุยกันวันนี้มีเรื่องราวที่มากมายเต็มไปหมด ทั้งเสียงหัวเราะและอุปสรรคพายุ วันนี้อยากพาทุกคนอ่านเรื่องราวของร้าน Mooh Homemade แบบเต็มอิ่มกันอีกสักครั้งหนึ่ง
น้องหมูแนมและน้องเกี๊ยกจบมาจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คณะเศรษฐศาสตร์ทั้งคู่เลย ไม่ใช่คนท้องถิ่นด้วย แต่ทำไมถึงเลือกมาเริ่มต้นตั้งหลักปักฐานอยู่ที่เชียงใหม่กันหล่ะ
“ไม่ได้จบที่นี่แล้วก็ไม่ได้เป็นคนที่นี่ด้วย แนมเป็นคนเชียงราย เกี๊ยกเป็นคนศรีสะเกษ ตอนแรกแนมเรียนจบแล้วอยากเปิดร้านแต่เราไม่มีประสบการณ์การอะไรเลย เราก็เลยอยากไปทำงานเป็นลูกจ้างของเขาก่อน”
ถ้าย้อนกลับไปทั้งคู่เป็นแฟนกันมาตั้งแต่สมัยเรียน ฝั่งบ้านของน้องหมูแนมจะทำงานข้าราชการส่วนฝั่งของน้องเกี๊ยกจะทำอาชีพค้าขาย
ก่อนหน้านั้นมันเป็นช่วงที่คาเฟ่เริ่มเป็นกระแสขึ้น แนมก็สนใจด้านนี้เขาก็ไปทำงานพาร์ทไทม์ที่คาเฟ่ต่างๆ เกี๊ยกก็รู้ละว่าแนมน่าจะชอบทางนี้ ตอนนั้นเกี๊ยกก็ไม่ได้คิดหรอกนะครับว่าจะทำอะไร เพราะบ้านเกี๊ยกก็มีธุรกิจส่วนตัวตอนแรกก็อยากกลับไปช่วยที่บ้าน
“พอแนมจบก่อน แนมก็ย้ายมาทำที่เชียงใหม่ ตอนนั้นแนมยังไม่มีความรู้ด้านกาแฟและขนมเลย แนมก็เลยไปทำงานเป็นบาริสต้า”
“ก่อนหน้านั้นโซเชียลมันหนักมาก เรื่องการกระตุ้นให้เด็กจบใหม่ต้องทำ SME เปิดคาเฟ่ ตอนนั้นเราก็ไม่แน่ใจว่าเราชอบมันจริงหรือเปล่า เราจะอยู่กับมันได้หรือเปล่า”
“แต่พอเกี๊ยกเรียนจบเกี๊ยกก็ยังทำงานธนาคารที่กรุงเทพ ทำอยู่ 10 เดือน”
“ตอนแนมทำคาเฟ่แนมก็ทำงานอยู่ที่หน้าร้านทั้งหมดเลยค่ะ เป็นบาริสต้า เสิร์ฟขนม อะไรมากกว่าไม่ได้เข้าครัวเลย”
ระหว่างที่เกี๊ยกทำงานที่กรุงเทพ เกี๊ยกก็ไปๆมาๆเชียงใหม่กรุงเทพ บางทีก็ไม่อยากกลับ เราก็เริ่มชอบเชียงใหม่แล้วตอนนั้น แล้วตอนนั้นมันก็เป็นระยะที่จะต้องต่อสัญญาเป็นพนักงานประจำแล้ว เขาจะปรับให้เราเป็นประจำ ถ้าเราถูกปรับเป็นพนักงานประจำก็แปลว่าเราต้องอยู่ยาวแล้ว มันเหมือนเป็นสัญญาจ้าง แต่เราก็ยื่นเรื่องลาออกก่อนหน้านั้น ตอนนั้นเราทำงานเพื่อให้เรารู้ว่าเราไม่ชอบมันจริงๆ
“ตอนนั้นตื่นมาก็เลื่อนนาฬิกาปลุก เจอรถเยอะ เร่งรีบ เรารู้สึกว่าเราไปกับมันไม่ไหว” เกี๊ยกเล่าให้ต่ายฟัง
“แนมเรียนจบก็ไปทำคาเฟ่ที่เชียงรายก่อนทำร้านกาแฟที่เชียงรายสักแป๊บนึง เสร็จแล้วก็ย้ายมาอยู่เชียงใหม่ ตอนนั้นเราก็อยากออกจากเซฟโซนไม่อยากอยู่ที่บ้าน อยากทำงานที่อื่นดู เพราะตอนนั้นเราต้องเสียค่าห้องเองอะไร จะได้ลองจะจัดการชีวิตของตัวเอง”
พอเป็นเชียงใหม่แล้วคิดว่ามันแตกต่างไหมระหว่าง เชียงรายและกรุงเทพ
“เชียงรายช้า ช้ามากกกก ทุกคนจะรู้จักกันถ้อยทีถ้อยอาศัยกันหมดเลย — แต่เชียงใหม่ก็ไม่ได้เร่งเกินไป และมีทุกอย่างเหมือนที่กรุงเทพมีสถานที่ท่องเที่ยว ธรรมชาติก็มี เชียงใหม่เลยตอบโจทย์ช่วงอายุเรา ณ ตอนนี้ เรายังอยากกินของอร่อยๆ เราอยากไปเที่ยวออกกำลังกาย หรือได้แรงบันดาลใจ เจอคนเก่งๆ ลูกค้าหลายรูปแบบ”
“ปกติเกี๊ยกเป็นคนทำอะไรตามความรู้สึกตัวเองตลอด และตอนนั้นมาอยู่เชียงใหม่เราก็อยากอยู่ต่อ ตอนนั้นเราคบกันด้วยแล้วเกี๊ยกก็ค่อนข้างจริงจังและคิดว่าความสัมพันธ์เราน่ะ ถ้าจะไปต่อมันต้องมีคนเสียสละ เราเลยตัดสินใจว่าถ้าเรามาอยู่ด้วยและเราสานต่อความฝันของเขาดีกว่า”
“ตอนนั้นตกใจนะคะ เพราะว่าถ้าเขาย้ายมาที่เชียงใหม่เงินเดือนมันจะไม่ใช่หมื่นแล้ว” คุณหมูแนมช่วยเสริม
“ตอนนั้นโกหกป๊าม้าว่าเงินเดือนหมื่นหนึ่งแต่จริงห้าพันละค่าหอก็สี่พันแล้วครับ แต่คือเวลาเราจะทำอะไร เราไม่ได้อยากนับ 6 นับ 7 ใหม่ เราต้องมานับ 1 ทั้งขั้นตอนในการจะทำร้านกาแฟและขนมมันไม่ใช่ว่าเรามีเงินมาแล้วจะทำได้ แต่คนมีทุนมีความรู้มาก็อาจจะอีกเรื่องหนึ่ง แต่เรามาแบบจำกัด ทุนก็ไม่ได้เยอะ ความรู้เราก็ยังไม่มี เราเลยต้องมานับ 1 — หรืออาจจะ 0 ก็ได้นะครับ เพราะเรามาทำงานก็ไม่มีเพื่อน ไม่รู้จักใคร” น้องเกี๊ยกเล่า
“ตอนนั้นแนมมาอยู่พักหนึ่งก็จะมีเพื่อน มีคอนเนคชั่นบ้างแล้ว”
“ตอนนั้นเกี๊ยกก็มาทำพาร์ทไทม์กับแนมแล้วก็สนใจด้านกาแฟ อยากเป็นบาริสต้าเรียนรู้เรื่องกาแฟ”
แล้วอยู่ๆมาขายโดนัทได้ยังไง
“ตอนนั้นเรามองไปตามสัญชาตญาณความรู้สึกแล้ว และอีกอย่างเราก็เริ่มรู้ละว่าระบบร้าน การทำร้านต้องทำยังไง ส่วนแนมเองก็รู้จักคนเยอะขึ้นแล้ว แพลนแรกเราตั้งใจจะไปเปิดร้านที่เชียงราย ไม่ได้กะจะเปิดที่เชียงใหม่ เพราะตอนนั้นบ้านแนมก็ลงทุนไว้ให้แล้ว รีโนเวท ลงทุนสร้างเป็นร้านสวยๆร้านหนึ่งไปแล้ว แต่ว่าตอนนี้ก็ยังร้างอยู่นะครับ ยังไม่มีคนไปทำอะไร”
“ที่ไม่ไปที่เชียงรายตอนนั้นเพราะเราแอบทำร้านไปแล้ว เดือนสองเดือนแต่เป็นความลับ เรายังไม่ได้บอกแม่เลย จนโทรไปบอกแม่ว่า หนูจะเปิดร้านที่นี่แล้วนะ แม่ก็พูดประมาณว่า อืม เหมือนจะรู้อยู่แล้ว ว่าต้องมีคนช่วยอยู่แล้ว เหมือนรู้อยู่แล้วว่าต้องเป็นเกี๊ยกแต่แม่รอให้เราบอกเฉยๆ”
“จริงๆเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องนะครับ แต่เราตัดสินใจกันได้แบบนั้นจริงๆ”
“กว่าจะหาทุกอย่างเราใช้เวลาประมาณครึ่งปี ตอนนั้นเราก็มีขายเสื้อผ้ามือสอง”
“ขนมนี่มาตอนท้ายเลย เพราะว่าตอนเราทำงานเราก็อยู่หน้าร้านกันตลอด แนมก็รับลูกค้า เกี๊ยกก็ชงกาแฟ ตอนแรกแนมลองทำหลายอย่างมากทั้งเค้ก ทั้งขนมปัง”
“เป้าหมายเกี๊ยก อยากเปิดร้านขนมเพราะช่วงนั้นเกี๊ยกบ้าความญี่ปุ่นมาก เวลาที่ไปดูเกี๊ยกก็จะไปดูร้านญี่ปุ่น ขนมญี่ปุ่น เราเลยอยากให้มันเป็นฟีลญี่ปุ่นและมีขนมน่ารักๆเยอะๆ มันอาจจะไม่ตอบโจทย์ที่เชียงใหม่นัก เราเลยคิดว่าจะทำยังไงให้มันไม่เยอะจนเกินไปและไม่น้อยจนเกินไป ให้คนเขาถึงง่ายๆด้วย”
“ตอนนั้นเรามองว่ามันไม่มีโอกาสให้มันล้มเหลวนะครับ คือเราคิดแค่ว่าต้องทำยังไงถึงจะขายให้ได้ ต่างคนต่างมีเงินก้อนสุดท้าย”
“ตอนนั้นผมว่ามันสนุกมากกว่า แค่รู้ว่าเราต้องทำอะไรและสนุกไปกับมันจนเราไม่ได้คิดว่าต้องได้เงิน”
“เรายอมรับว่าเวลาทำธุรกิจต้องอยากได้เงิน แต่เราไม่ได้เอาเงินเป็นที่ตั้งเราแค่ขอให้ได้ทำ”
“ตอนแรกเราไม่เคยทำ แต่พอเรามาลองทำเราก็รู้สึกว่าเราชอบมันและน่าจะชอบมันแบบมาก จนถึงตอนนี้”
ตอนทำครั้งแรกเป็นยังไงบ้าง?
“ทุกคนน่าจะรู้ว่าตอนทำตอนแรกมันยากมาก บางทีตอกไข่ไปสามฟองแล้ว แต่ยังไม่รู้เลยว่าตอกไปกี่ฟองแล้ว มันเบลอ มันทดลองเยอะมากๆ ยิ่งเป็นขนมปังยิ่งยากเลยครับ”
“เราเอาสูตรมาจากยูทูป แต่เราก็เอามาปรับเยอะมาก มันเหมือนคณิตศาสตร์เนยไม่หอมเปลี่ยนเนย หวานไปก็ลดน้ำตาล เปลี่ยนแป้งและปรับไปเรื่อยๆจนเรารู้สึกว่าโอเคกับเขา”
“ก้อนแรกที่ออกมา คือแบนและกลายเป็นซาลาเปาทอด ตอนนั้นทำเยอะมากครับ ตื่นมาก็ทำ ทำไปและก่อนนอนก็ทำ ทำไปดูทีวีไป”
“บางทีไม่รู้จะกินอะไรเราก็กินมันแทนข้าวเลย ย้อนกลับไปผมว่าผมมีความมสุขที่สุดแล้วนะครับ มันอิ่มเอม มันสนุกมาก ไม่รู้จะพูดยังไง มันมีความสุขมาก พอมองกลับไปแล้วแบบว่ามึงทำได้ไงวะ ละตอนนั้นเรานวดมือด้วย จนวันที่เราเปิดร้านเราก็ยังนวดมืออยู่เพราะเราไม่มีตังไปซื้อเครื่อง”
“ความรู้สึกตอนนั้นมันตื่นเต้น เราแชร์ว่าจะเปิดร้านแล้วก็มีคนช่วยแชร์แล้วก็วันแรกเราได้นอนชั่วโมงสองชั่วโมงเองเพราะว่าเรานวดมือ เราแมนนวลโฮมเมด และเรากะเวลายังไม่ได้ เราเปิดเจ็ดโมงครึ่ง เราทำที่คอนโด ตื่นมาทอดแล้วก็ทำอย่างทุลักทุเล แล้วก็หอบมาที่ร้าน ตอนนั้นทำได้แค่สามสิบชิ้นเอง แล้วก็มีขนมปังแบบเป็นโอเพ่นแซนวิส”
ตอนแรกที่เปิดเป็นยังไงบ้าง เสียงตอบรับดีขนาดนี้
“ตอนนั้นก็ช็อกอยู่นะครับ เพราะว่าเปิดมา 7:30 ตอน 8:00 โมงก็หมดแล้ว เพราะมีแต่คนรู้จัก แนมมีคนรู้จักเยอะมาก”
“ตั้งแต่วันแรกเราก็เห็นแล้วครับว่าที่ไม่ใช่เพื่อนก็มี ลูกค้าคนแรกชื่อพี่เข่ง ที่เขาชอบถ่ายรูปผมยังจำได้อยู่เลยว่าเขาสั่งโทสต์สองอันแล้วก็ขนม โมเม้นวันเปิดร้านแรกๆผมว่าทุกคนต้องจำได้ จำได้ดี”
“วันนั้นเขาก็ถ่ายรูปแล้วก็เอาไปลงเพจเขาอีก ก็เหมือนคนเขาถ่ายรูปแล้วก็ตามกันมา”
ทำไมถึงต้องเป็นโดนัทอิตาลี?
“ผมชอบมันเพราะว่ากินแล้วมันเหมือนทานขนมปังอ่ะครับ อย่างที่ทานไปมันเหมือนเค้กเห็นได้ตามทั่วไป แต่โดนัทเรามันเหมือนกินขนมปังที่มีครีมมีอะไร จริงๆแล้วเรามีไส้คาวด้วย ซึ่งเกี๊ยกมองว่ามันมีความแตกต่างอะไรบางอย่างและลูกค้าทานรู้สึกว่ามันมีความแตกต่างมากกว่ามันเลยทำให้ มันเข้าถึงลูกค้าได้”
“ตอนนั้นที่เชียงใหม่ก็มีแบบนี้บ้างครับ มีน้อยแต่เราก็ไม่ใช่ร้านแรก เราแค่เป็นร้านที่มองว่าสินค้าตัวนี้น่าจะขายได้เลยเปิดเป็นโดนัทช็อปไปเลย”
“ตอนแรกๆเราขายแมคดาลีนด้วย จริงๆเราชอบญี่ปุ่นและอยากเปิดเป็นร้านเบเกอรี่ ซึ่งตอนนี้ก็ยังเป็น”
ช่วงที่เหนื่อยมาก มีเบิร์นเอาท์ไหม ช่วงนั้นทำยังไงถึงผ่านมาได้?
“เกี๊ยกมองว่าแต่ละคนมันไม่เหมือนกัน อย่างเกี๊ยกแค่เปิดร้านวันแรกก็รู้สึกประสบความสำเร็จแล้ว เราแค่อยู่กับมันซึ่งมันจะพิสูจน์ได้ก็ต่อเมื่อว่าเราอยู่กับมันมาได้นานแค่ไหน ถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่มีความรู้สึกอยากจะเลื่อนนาฬิกาปลุกเหมือนตอนที่อยู่กรุงเทพ ตื่นมาตีสองก็ลุกขึ้นมาได้เลยทั้งๆที่เราอยากจะนอนต่อ”
“มันจะมีช่วงที่เราไม่บาลานซ์ ช่วงหน้าไฮท์ที่เราทำไปร้องไห้ไป ไม่ใช่ว่าไม่อยากทำแต่มันเหนื่อย มันเป็นช่วงที่สามเดือนได้นอนสามชั่วโมง ช่วงนั้นเป็นช่วงที่ไม่มีความสุขที่สุดแล้วครับ ทั้งๆที่มันเป็นช่วงที่เราขายดีมากๆ ข้อเสียคือเราไม่ได้คุยกับลูกค้าเลย เขามาถึงปุ๊บก็ต่อคิวซื้อแล้วก็ออก ไม่ได้มีการคุย ไม่ได้เหมือนช่วงแรกที่เราสนุกมากเลย”
“มันฉาบฉวย มันดูธุรกิจไปหน่อยครับตอนนั้น”
ได้รับความนิยมเร็วมาก คิดไหมว่าจะทำอะไรต่อ?
“ตอนช่วงแรกว่าขายดีแล้ว ปลายปีที่ผ่านมามันหนัก ขายดีหนักกว่าเดิม จนแว๊บเข้ามาว่าเราจะขยายดีไหม หรือขายเฟรนชายด์เพราะมีคนแนะนำมา”
“ตอนนั้นเราต้องกลับมาถามตัวเองว่าเปิดร้านทำไม เราต้องการเป็นตัวแทนของคนไม่มีความทะเยอทะยาน เป้าหมายเราก็คือกลับบ้านไปทำโอสเทลหรือร้านเบเกอรี่เล็กๆอยู่ด้วยกัน”
เราอาจจะโตมาแบบวิธีคิดที่ผิดๆว่าเราอาจจะเป็นเป็ดก็ได้ โซเชียลมีเดียมันกระตุ้นให้คนคิดอย่างนี้แต่เราคิดไม่เหมือนเขา เราอยากเป็นตัวแทนของคนไม่ทะเยอทะยานมาก
“จุดประสงค์เราอยากเป็นคนทำเอง รับลูกค้าเอง มันได้ฟีลคนละแบบเหมือนเราได้รับฟีดแบคลูกค้ามา เหมือนได้รับแบบตรงๆและเขารู้สึกยังไงแล้วเราส่งความรู้สึกให้เขาเต็มๆ มันไม่เหมือนเราจ้างคนอื่น น้องเขาก็อาจจะเป็นอีกฟีล จะแถมลูกค้าเขาก็ไม่กล้าแถม จะถามสารทุกข์สุกดิบก็ไม่รู้ชื่อลูกค้า”
“ช่วงโควิดเรายิ่งรู้เลยว่าเรามาถูกทางแล้ว มีลูกค้าที่มาเป็นประจำเขาก็มาช่วยเยอะแยะไปหมด เราได้เพื่อนเพิ่ม ได้น้า ป้า พี่เพิ่ม”
“เราคงจะหาเรื่องพวกนี้ไม่ได้ถ้าเราทำเป็นธุรกิจ มันเป็นเรื่องของภายในที่ตอบยาก”
โควิดระลอกแรกกระทบหนักแค่ไหน
“หนักเลยครับ ถ้าพูดกันตามความเป็นจริง 60% ของลูกค้าหายไปเพราะเป็นนักท่องเที่ยว กลุ่มเป้าหมายเราตอนแรกก็เป็นนักท่องเที่ยวเพราะร้านเราอยู่ที่นิมมาน เพราะมันเป็นใจกลางเลยคนไปทำงานก็แวะมาได้ โรงแรม มีคนเดิน ตอนนั้นคนจีนเยอะมาก พอคนจีนเห็นคนต่อแถวเขาก็จะเข้ามา”
“จริงๆเราอยากได้นักท่องเที่ยวคนไทย และต่างชาติน่าจะเกิดจากการบอกต่อ 40% ก็เป็นคนท้องถิ่น คนที่เรารู้จักที่คิดไว้ตอนแรก”
“ลูกค้าหายก็มาขยายในพื้นที่เปิดเดลิเวอร์รี่ เกี๊ยกขับรถตระเวนส่งและกลับไปทำขนมต่อ”
ระลอกแรกมาแล้วเหมือนจะดีขึ้น
“มันดีขึ้นเลยแหละ ก่อนจะรีโนเวทร้าน”
ทำไมถึงรีโนเวทร้าน กับ โควิดระลอกเมษา 64
“เราได้เช่าทั้งตึกเพราะโฮลเทลย้ายออก เจ้าของเขาก็มาถามเราว่าอยากเช่าทั้งตึกไหมเพราะว่าช่วงโควิด – 19 มีการเปลี่ยนแปลงสัญญา ทำให้เราได้เช่าทั้งตึก เราก็เลยได้โอกาสรีโนเวทร้าน”
“ตอนนั้นเปิดร้านใหม่ใหม่ได้ 1 วัน ละตอนเย็นก็มีคนเริ่มติดแล้ว ตอนแรกเราก็คิดว่าปิดรีโนเวทช่วงมีนาคมและเมษายนก็จะเปิดยาว เราจะได้ขายของเจอลูกค้า แต่กลายเป็นว่าโควิดก็ระบาด ตอนนั้นเราไม่มีแผนสำรองเลยเพราะคิดว่ามันจะจบตั้งแต่รอบสองแล้ว”
“ตอนนั้นรู้สึกน้อยใจมาก รู้สึกว่าเจอเรื่องอะไรเยอะแยะจัง”
“เกี๊ยกกับแนมจะคุยกันสองคนตลอด แล้วเกี๊ยกก็จะพูดถึงเคสที่แย่ที่สุดที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ถ้าไม่มีคนมาซื้อเลยหรือไม่มีคนเลย เราจะไหวไหม ถ้าไหวเราก็จะไปต่อ แต่เราต้องปรับตัวเป็นเดลิเวอร์รี่ก่อนเช่นเคย”
“ตอนนั้นเกี๊ยกก็เป็นคนวางแผนที่จะทำโปรดักส์นั้นโปรดักส์นี้ขึ้นมาดีไหม ส่งต่างจังหวัดไหม เราก็เลยลองหาวิธีว่าเราจะทำยังไงให้เราอยู่ได้เพราะเราจ้างน้องคนหนึ่งเป็นประจำแล้วด้วย เพราะเรามีค่าพนักงาน ค่าที่ มันเป็นธุรกิจแล้ว เพียงแค่ว่าเราไม่ได้เน้นที่ตัวเงินแค่ทำให้มันโคฟเวอร์กัน”
“โปรดักส์ส่งต่างจังหวัดนี่จะเป็นแผนสำหรับในกรณีที่แย่ที่สุด ถ้าเราต้องปรับตัว”
การส่งต่างจังหวัดครั้งแรกมีปัญหา
“ด้วยความที่มันเป็นครีมและแป้ง มันไม่ควรใช้เวลาเกินสองวันในการเดินทาง ตอนนั้นมันเป็นสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้ เราลองส่งให้เพื่อนดูเขาก็พูดกับเรามากไม่ได้ เราก็กลัวว่าลูกค้าอาจจะคาดหวังมากและตัวสินค้าเราที่ส่งไปก็อาจจะแค่กินได้”
“อีกอย่างขนมเรามันมีจะผลไม้ และมันก็จะมีน้ำ มีครีม มันก็จะทำให้ครีมเสียงานเราเลยปรับเป็นทำวาฟเฟิลให้มันกรอบ ลูกค้าได้รับไปก็จะเอาไปอุ่นทานคู่กับกาแฟให้มันร้อน”
“แต่ลึกๆในใจเราก็ไม่ได้อยากส่ง เราอยากให้คนมาทานที่ร้านมากกว่า”
“มีคนทักมาเยอะนะครับ ตัววาฟเฟิล ทั้งลูกค้าเก่าและลูกค้าใหม่”
“แต่เกี๊ยกบอกว่าตอนนี้ที่สถานการณ์เปลี่ยนเป็นทุกอย่างเดลิเวอร์รี่คนที่เสียประโยชน์ก็คือลูกค้า คนที่ได้ประโยชน์ก็จะมีแค่แอปพลิเคชันกับพ่อค้าคนกลาง”
“เกี๊ยกมองว่าแอปพลิเคชันถ้าเราขึ้นราคาเราก็เสมอตัวเพื่อหักส่วนต่างตรงนั้น คนที่เสียประโยชน์ก็คือลูกค้า หรือถ้าเกี๊ยกไม่ขึ้นเราก็เสียประโยชน์ต่อให้ลดแค่ไหน เราก็ไม่อยากลดคุณภาพของสินค้า”
ลูกค้าที่มาในทุกวันนี้ยังเป็นลูกค้าประจำ และเคยมีดารามาถ่ายรูปและเช็คอินที่ร้าน
“ใช่ค่ะ คุณอิ้งค์ ช่วงนั้นทุกคนที่มาก็จะอยากมานั่งเก้าอี้ตัวที่คุณอิ้งค์นั่ง ไม่ก็จะเปิดรูปคุณอิ้งค์แล้วก็ถ่ายรูปเอามุมคุณอิ้งค์”
“เป็นจังหวะก่อนจะเข้าหน้าไฮต์พอมีคนมีชื่อเสียงมาก็เลยทำให้ร้านเราเป็นที่รู้จักมากขึ้น”
“เกี๊ยกเขินมากเพราะติดตามผลงานเขาอยู่แล้ว มือสั่นไม่กล้าอยู่ใกล้เลย”
“โควิดระลอกแรกเรามีลูกค้าประจำคนหนึ่งเขาเดินมาหาเราแล้วก็เอาเงินให้เราเลยพันหนึ่ง เขาบอกว่าเขารู้ว่าเรากำลังลำบาก เขาอยากช่วย อยากให้กำลังใจ ตอนนั้นมันเป็นความรู้สึกที่แบบว่าคนที่ทำธุรกิจแบบธุรกิจคงไม่ได้อะไรแบบนี้ วันนั้นเราเลยทำขนมไปแจกเลย เรารับรู้ถึงพลังบวกของเขาที่เขาส่งมาให้เรา”
“แม้กระทั่งโควิดระลอกที่ผ่านมาก็ตาม เขาก็โอนมาให้เราบอกว่าเป็นกำลังใจแล้วก็ช่วยไปรับออเดอร์จากคนรู้จักของเขามาอีก 80 ลูก เขาจะมาซื้อร้านเราทุกวันเสาร์ อยู่กับเราทุกช่วงเวลา เราขายดีเขาก็มาต่อคิว เขาก็ดีใจด้วยนะคะที่เขาเห็นคนมาต่อคิวร้านเรา”
“เขาทำให้เรารู้สึกว่าสิ่งที่เรากำลังทำมันถูกต้องแล้ว ผมก็เลยคิดว่านี่คือความต่างของร้านเรากับร้านอื่น ซึ่งเกี๊ยกก็คิดมาตลอดว่าอะไรที่เราต่างจากร้านอื่นและอะไรที่ร้านอื่นจะทำแบบเราไม่ได้ ก็รอยยิ้มของเรานี่เอง”
“มันเป็นสิ่งที่คนอื่นเลียนแบบไม่ได้ อย่างการที่เราต้อนรับลูกค้ากันเอง ช่วยกันเอง มันน่าจะเป็นเสน่ห์บางอย่างที่กลุ่มลูกค้า Local ของเรากลับมา”
ขอให้เล่าเรื่องสองปีที่ผ่านมาอะไรสำคัญที่สุด
“เกี๊ยกมองว่าสติสำคัญมากๆ เพราะเราต้องรู้ว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ มันจะมีช่วงหนึ่งที่เกี๊ยกก็จะมีหัวการค้าและมองเรื่องของตัวเงินมากเกินไป ซึ่งสติมันจะดึงเรากลับมา”
“เกี๊ยกจะชอบกลับไปดูในอินสตราแกรมของร้านตัวเอง เวลาที่เราพิมพ์แคปชั่นหรือที่ลูกค้ามาคอมเม้นต์รูปภาพเก่าๆ มันทำให้เกี๊ยกรู้สึกกลับไปจุดแรกๆอีกครั้งหนึ่ง”
“พอนั่งเลื่อนดูตอนนั้นก็จะกลับมารู้สึกว่าอยากได้ฟีลแบบนี้”
“อีโก้นี่ทุกคนต้องมีอยู่แล้ว ใครที่ไม่รู้ตัวว่าตัวเองมีก็น่าจะกำลังเป็นคนที่ซวยมากๆ แต่เราเองเราก็ไม่รู้ว่ามีหรือเปล่า เพราะต้องให้คนอื่นมองมา แต่ตัวเราเองเรามองว่ามันไม่ควรมี”
มันเป็นความรู้สึกภูมิใจมากกว่า ไม่ได้ฟีลแบบว่าทุกคนกินขนมฉันแล้วอร่อยหรือต้องชอบ
“เราเป็นคนน่าจะถ่อมตัวด้วยซ้ำไป ท้ายที่สุดแล้วลูกค้าเป็นคนเลือกอยู่แล้วว่าจะชอบกินร้านไหน ยังไงเราก็ฝืนความรู้สึกเขาไม่ได้อยู่แล้ว”
สำหรับหมูแนม สองปีที่ผ่านมาแนมคิดว่าเราไม่จำเป็นต้องไปเครียดมากเราแค่ทำของเราให้ดีที่สุด ตั้งใจทำให้ออกมาดีทำให้เต็มที่ในส่วนของเรา ส่วนต่อไปที่ลูกค้าได้รับเขาจะสัมผัสได้เองว่าเราตั้งใจทำให้เขาจริงๆนะ เหมือนส่งต่อความสุขของเราให้ลูกค้า เหมือนมุมมองเราก็โตขึ้น เราไม่ได้เครียดว่าคนอื่นจะทำเหมือนเราอีกกี่ร้าน
“ช่วงแรกแนมจะเครียดมากว่าทำไมเขาทำเหมือน เรื่องนี้น่าจะเป็นเรื่องอีโก้”
“เกี๊ยกก็จะเตือนสติแนมว่าเราอยู่ตรงจุดไหนและมีหน้าที่ทำให้ดีที่สุดคนที่ตัดสินคือลูกค้าอยู่ดี”
“เราก็ไม่รู้จะไปเครียดทำไม เครียดไปเขาก็ไม่ได้จะปิดร้านหรือลูกค้าจะไม่ซื้อเรา”
“เกี๊ยกไม่ได้มองใครเป็นคู่แข่งเลย ในสงคราม ไม่มีใครไม่เจ็บปวด”
ตอนนี้มีเป้าหมายมีไว้ของตัวเอง ต่อไปจะทำให้เป็นยังไงในอีก 5 ปี
“อยากมีร้านอีกสักร้านหนึ่งเป็นของตัวเอง แต่อยากให้เป็นฟีลบ้านแบบญี่ปุ่นเลย”
“ตอนแรกเราอยากกลับไปอยู่เชียงรายเพราะบ้านแนมทำไว้แล้ว และไม่ได้เสียค่าที่หรืออะไร แต่ช่วงอายุเรา เรายังอยากเจอความท้าทายบางอย่างที่นี่อยู่”
“ถ้าพูดถึงขยายสาขาเราไม่มีแพชชั่นอะไรตรงนั้นเลย เราก็ไม่สามารถการันตีได้เพราะก่อนหน้านี้ความคิดเราก็เปลี่ยนเรื่อยๆ เพราะช่วงอายุ มันเหมือนในหนังเรื่อง DARK ที่คนเจอเราในช่วงอายุหนึ่งแล้วไปเจออีกช่วงอายุหนึ่ง ความคิดจะเป็นคนละเลย ความคิดเราในตอนนี้กับในอีกหลายปีข้างหน้าอาจจะไม่ตรงกัน ซึ่งตอนนี้เรายังเชื่ออย่างนี้อยู่แต่ก็ไม่กล้าการันตีอนาคตเรา”
“แต่ 5 ปีเราคงอยู่จุดนี้อยู่แล้วก็สร้างมาตรฐานของตัวเองและลูกค้า สร้างความสัมพันธ์บางอย่างกับลูกค้าและน้องที่มาช่วยทำงาน”
ถ้าสมมติว่ามีรุ่นน้องมาถามว่าอยากจะเปิดธุรกิจสักอันหนึ่งจะแนะนำยังไง
- แนม
“จริงๆก็มีคนมาถามบ้างแล้วนะคะ ว่าต้องใช้งบเท่าไหร่ แผนการตลาดเป็นยังไง แนมก็แนะนำเท่าที่แนะนำได้เพราะปกติการตลาดจะเป็นเกี๊ยกอยู่แล้ว แนมก็เลยจะแค่แนะนำที่ซื้อของอะไรกันไป”
- เกี๊ยก
“คนที่กำลังสนใจเปิดกาแฟหรือคาเฟ่ คงตอบยากนะ คุณต้องถามตัวเองก่อนว่าเอาจริงไหมต่อให้ไม่เดินทางนี้ทางอื่นก็ยากหมด แต่เกี๊ยกยังเชื่อนะว่าถ้าชอบก็ต้องทำไม่อย่างนั้นก็จะเสียดาย ก็อย่างที่บอกว่าใครก็เปิด เราก็อยากเปิดถ้าเป็นอย่างนั้นอย่าทำดีกว่า เราควรต้องถามตัวเองย้ำๆก่อนจะตัดสิน เราต้องถามตัวเองและเรียนรู้ตลอดเวลาว่าต้องการจริงๆไหม”
“ปกติเขาจะเห็นเราแค่ตอนที่ประสบความสำเร็จ แต่จริงๆแล้วเบื้องหลังมันมีอีกเยอะมากวันที่ไม่มีลูกค้า วันที่ลูกค้าด่าเราจะรับมือหรือจัดการได้ไหม ร้านเราเปิดมาเพราะจังหวะมันดีไม่ใชว่าปรึกษาพี่แล้วจะสำเร็จนะ เราไม่ได้บอกว่าเราสำเร็จหรือเก่ง เราแค่แนะนำได้ ตอนนั้นเราโชคดีที่มีคนเอ็นดูเรา มีคนรู้จัก”
“อีกเรื่องคือสังคมกาแฟเชียงใหม่ที่เราซึมซับมา เขาอุดหนุนเรา เราก็ไปอุดหนุนเขาให้เงินมันหมุน มันน่ารักมาก เราช่วยกันขาย ช่วยกันแชร์ บอกต่อร้านกันไป เป็นสังคมเชียงใหม่ที่น่ารักมากเลย”
ความสำเร็จที่ผ่านมาคิดว่าเกิดจากความโชคดีหรือความสามารถของเรา?
“เกี๊ยกมองว่ามันคือโชคส่วนหนึ่งและเพราะเราด้วย เพราะเราไม่เคยยอมแพ้ เรามองโลกในแง่ดี ถ้าเราไม่ยืนหยัดด้วยกันเจออะไรนิดๆหน่อยๆก็ไปแล้ว ถ้าเกี๊ยกไม่มีแนมก็เปิดร้านไม่ได้”
“ถ้าความเห็นไม่ตรงกันก็จะค่อยๆคุยกันด้วยเหตุและผล เรามาด้วยความพยายามและใจเราสู้จริงๆ ตั้งแต่เรื่องการทำขนมที่เราทำจนมารู้ว่าอุณหภูมิประมาณนี้ เรารู้แค่ว่าเราต้องทำอย่างนี้มันเกิดจากที่เราทำอะไรย้ำๆ”
“ส่วนของแนม แนมว่าน่าจะเป็นทั้งสองอย่างถ้าแนมไม่มีเกี๊ยกช่วยคิดการตลาด แนมก็คงจับต้นชนปลายไม่ถูก เกี๊ยกน่าจะเป็นคนที่ทำให้มันเกิดทั้งความโชคดี ทั้งโอกาส”
“ถ้าโชคคือการที่เราได้เจอลูกค้าที่คอยซัพพอร์ต ถ้าไม่มีเขาเราก็คงเฟลตั้งแต่เปิดร้านแรกๆ”
ช่องทางติดต่อ :
Facebook: moohomemade
เบอร์โทรศัพท์ : 085-339-2423
ที่อยู่ : https://goo.gl/maps/tYvc6siVmYdzA8iz8