จุดเชื่อมต่อของยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนผ่าน : 5 ทศวรรษของศูนย์วัฒนธรรมเชียงใหม่กับการปรับตัวสู่การท่องเที่ยวที่ยั่งยืน
‘เชียงใหม่’ พอเราได้ยินคำนี้เราจะนึกถึงอะไร?
หลายคนอาจคิดถึงน้ำพริกอ่อง ไส้อั่ว หรือ แคบหมู ซึ่งเป็นอาหารประจำถิ่น หรืออาจจะคิดถึงอากาศเย็นๆ บนยอดดอยอินทนนท์ บางคนอาจจะคิดถึงวัฒนธรรมล้านนาและความเนิบช้าของผู้คน รอยยิ้มน่ารักๆ กับคำว่า “เจ้าาาา” ยาวๆ บางคนอาจจะคิดถึงร้านคาเฟ่สวยๆ กาแฟอร่อยๆ หรือหลังๆ มาอาจจะเป็นครัวซองท์ที่กำลังกลายเป็นขนมในกระแส
นี่คือความสวยงามของเชียงใหม่ ตั้งแต่ต่ายจำความได้เชียงใหม่เป็นเมืองที่ครึกครื้นเต็มไปด้วยนักท่องเที่ยวหลากหลายเชื้อชาติ หลากหลายภาษา ตั้งแต่ไนท์บาซาร์ยุครุ่งเรืองที่คนพลุกพล่าน กลางคืนเที่ยงคืนตีหนึ่งยังสว่างไสว จนยุคต่อมาที่บูมแถวนิมมานฯทั้งนักลงทุนต่างพื้นที่และธุรกิจต่างๆ มากมายเกิดขึ้นเต็มไปหมด เสน่ห์ของเชียงใหม่ยังคงเป็นอะไรที่น่าหลงใหลอยู่เสมอแม้จะผ่านมากี่ปีแล้วก็ตาม
แต่อย่างที่เราทราบกันดีว่าตลอดสองปีที่ผ่านมานั้นเชียงใหม่ซบเซาลงไปมาก ด้วยการระบาดของโรคร้ายจนทำให้การเดินทางและท่องเที่ยวหยุดชะงัก นักท่องเที่ยวชาวไทยหายไปเกือบ 50% และนักท่องเที่ยวต่างประเทศหายไป 82% และอัตราการเข้าพักโรงแรมอยู่ที่ประมาณ 40%
สิ่งที่น่าสนใจคือธุรกิจท่องเที่ยวของเชียงใหม่จะเป็นยังไงต่อ ความท้าทายของการฟื้นฟูเศรษฐกิจให้กลับมาเหมือนเดิม ให้กลับมาเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยรอยยิ้มเหมือนเมื่อก่อนจะเป็นไปได้ไหม? วันนี้ต่ายก็มีโอกาสได้คุยกับ “คุณขิม-มนัสวัฑฒก์ ชุติมา” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการโอลด์เชียงใหม่ หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ “ศูนย์วัฒนธรรมเชียงใหม่” เกี่ยวกับประเด็นนี้ รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นกับตัวธุรกิจที่อยู่มาห้าสิบปีว่าจะไปต่อยังไง
“ที่นี่เมื่อก่อนจะเป็นที่รู้จักกันในเรื่องการกินข้าวแบบขันโตกหรือเรียกว่าขันโตกดินเนอร์ โดยที่นี่ถือกำเนิดขึ้นเป็นเจ้าแรกของโลก ซึ่งเปิดให้บริการมาปีนี้ก็ปีที่ 50 พอดี — ถ้าไม่เจอโควิด -19 ก็คงได้จัดงานเลี้ยงอะไรอยู่”
โอลด์เชียงใหม่ ก่อตั้งเมื่อวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2514 โดย “คุณบวร และ คุณอุณณ์ ชุติมา” ซึ่งเป็นคุณปู่และคุณย่าของคุณขิม
“คุณปู่คุณย่ามีไอเดียอยากทำศูนย์วัฒนธรรมของเมืองเชียงใหม่ เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ข้อมูลของเชียงใหม่ในสมัยนั้น และตั้งใจให้เป็นมรดก เป็นพื้นที่ที่ให้ชาวเชียงใหม่ได้แสดงวัฒนธรรมของตัวเอง”
“คอนเซ็ปต์ของที่นี่คุณปู่คุณย่าได้ไอเดียมาจาก Polynesian Cultural Center และ International Market ที่ฮาวายตอนปี 2512 ตอนนั้นคุณปู่กับคุณย่าได้ไปแวะเที่ยวและก็ได้เห็นว่าที่นั่นมีศูนย์ศิลปวัฒนธรรมที่สวยงาม เลยเกิดไอเดียว่า ที่เชียงใหม่เองก็มีหลายชนเผ่า หลายชาติพันธุ์ น่าจะทำแบบนั้นได้ก็เลยกลับมาทำ และเพิ่มการจำลองวิถีชีวิตของชนเผ่าในพื้นที่ แต่ว่าในช่วงนั้นอาจจะล้ำเทรนด์นิดหนึ่งก็เลยถูกมองว่าเป็นสวนสัตว์มนุษย์ คุณปู่คุณย่าก็เลยเลิกล้มหมู่บ้านวัฒนธรรมไป”
“พอเลิกล้มหมู่บ้านวัฒนธรรมไป เหลือคงไว้แค่ขันโตกดินเนอร์และการแสดงเล็กๆน้อยๆ และยังมีขายสินค้าอยู่บ้าง”
ซึ่งที่จริงตัวขันโตกดินเนอร์เองเริ่มมาได้สักพักแล้วก่อนหน้านั้น โดยคุณไกรศรี นิมมานเหมินท์ พี่ชายของคุณย่าได้จัดงานเลี้ยงส่งให้กับเพื่อน โดยไอเดียก็คือจัดงานเพื่อให้เพื่อนได้รำลึกถึงเชียงใหม่ เลยกลายเป็นการทานข้าวบนขันโตกอาหารเมือง พร้อมดูการแสดงไปเลย
“ตอนที่คุณย่าได้สร้างโรงแรมรินคำขึ้น คุณย่าก็ได้เอาแนวคิดขันโตกดินเนอร์มาให้บริการแขกที่มาพักที่โรงแรมด้วย ซึ่งถ้าถามว่าขันโตกดินเนอร์ที่เป็นเชิงพาณิชย์ครั้งแรก ก็น่าจะอยู่ที่โรงแรมรินคำ ช่วงประมาณ 2511 แล้วพอปี 2512 เมื่อคุณย่าได้ไปฮาวาย พอกลับมาก็เลยมาสร้างศูนย์วัฒนธรรมที่นี่เพื่อรองรับนักท่องเที่ยว”
“ตอนนั้นเชียงใหม่ไม่มีสถานที่รองรับนักท่องเที่ยวที่ไหนเลยนะคะ แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ฉบับที่ 2 ที่ออกมาก็เพื่อให้กระตุ้นการท่องเที่ยวของชาติและให้เชียงใหม่เป็นเมืองท่องเที่ยวด้วย ในอดีตโรงแรมริมคำจึงได้มีโอกาสเป็นที่รับรองสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (พาต้า) ที่มาจัดประชุมที่เชียงใหม่ ตั้งแต่นั้นการท่องเที่ยวที่เชียงใหม่ก็ขยายตัวมากขึ้น”
ศูนย์วัฒนธรรมแห่งนี้คือความเป็นตัวของคุณขิมเลยก็ว่าได้ เพราะเติบโตมากับที่นี่ แต่ว่าการที่จะมาบริหารจัดการที่นี่ต่อมันก็มีอุปสรรคค่อนข้างเยอะพอสมควร
“คือเราเติบโตมาในกลุ่มครอบครัวที่อยู่ในวงการด้านนี้เราก็ซึมซับมาตั้งแต่เล็กมาเรื่อยๆ อย่างเช่นคุณลุง หรือ อ.วิถี ก็เป็นผู้บุกเบิกคณะวิจิตรศิลป์ หรือคุณไกรศรีก็เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านมานุษยวิทยา และถึงแม้ว่าขิมจะไม่ได้โตมากับท่านแต่ก็ได้เห็นงานเขียนและสิ่งที่แกทำมา และในครอบครัวเราก็สนใจในด้านมานุษยวิทยาและวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็นศิลปะ ผ้า อาหาร การแสดง และประวัติศาสตร์ มันทำให้เราได้ซึมซับวัฒนธรรมล้านนามาตั้งแต่เด็ก และเรามีเพื่อนวิ่งเล่นก็เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ซึ่งเป็นลูกหลานของนักแสดง มันเลยทำให้เราเห็นวัฒนธรรมแบบนี้มาตั้งแต่เด็ก”
ส่วนตัวขิมก็เป็นคนที่ค่อนข้างเปิดกว้างและเปิดรับวัฒนธรรมที่แปลกใหม่อยู่แล้วเพราะว่าขิมจะไม่มองว่าวัฒนธรรมนั้นถูกต้องไม่ถูกต้อง รับได้รับไม่ได้ เพราะเราไม่ควรเอาตัวเองไปตัดสินวัฒนธรรมที่เราไม่คุ้นชิน แต่เราควรจะเรียนรู้มากกว่าว่าทำไมเขาถึงคิดแบบนั้น หรืออะไรหล่อหลอมสิ่งที่เขาสร้างขึ้นมา ทุกอย่างมันส่งผลนะคะ ทั้งธรรมชาติ ความเชื่อ สภาพแวดล้อมหรือพื้นที่ตรงนั้น มันมีผลที่หล่อหลอมวัฒนธรรมให้เกิดขึ้นมา”
- สิ่งที่เรียนรู้จากโควิด 19 และเราจะทำยังไงต่อไป? ในฐานะที่คุณขิมอยู่ในวงการท่องเที่ยวมาโดยตลอดถือว่านี่เป็นผลกระทบโดยตรง
ขิมมองว่าการเกิดโควิด มันเป็นตัวที่เร่งปฏิกิริยาให้กับบางอย่าง ทั้งตัวเราเองและโมเดลทางธุรกิจของเราว่ามันสอดรับกับยุคสมัยนี้หรือเปล่า”
“อุปสรรคที่เจอก็คือการเปลี่ยนผ่านของวัฒนธรรมองค์กร พอวัฒนธรรมมันค่อนข้างนานมันก็จะทำให้กลุ่มคนรุ่นใหม่ปรับตัวหรือรับเข้ากับแบบเดิมไม่ได้ ตรงนี้ก็เลยเป็นส่วนที่เราต้องมาคิดว่าจะทำยังไงให้เขาสามารถเชื่อมต่อกันได้”
“การที่เราจะดึงเอาศักยภาพของคนรุ่นใหม่และการทำให้คนรุ่นเก่ายอมที่จะถ่ายทอดทักษะ เช่น การย่างไส้อั่ว ที่เราต้องมาคิดว่าทำยังไงให้คนรุ่นใหม่เปิดรับและคนรุ่นเก่าก็ภูมิใจที่จะถ่ายทอดต่อ”
“อีกเรื่องก็คือการที่ศูนย์วัฒนธรรมเชียงใหม่หนีไม่พ้น ภาคส่วนธุรกิจท่องเที่ยว ซึ่งที่เชียงใหม่ถือเป็น red ocean (แข่งขันกันดุเดือด) ขิมก็ได้คุยกับที่บ้านนะคะว่าเราจะต้องปรับบางอย่างในองค์กรถ้าสมมติว่าเชียงใหม่ยังแข่งกันด้วยสงครามราคาโดยที่ไม่ดึงเอาจุดแข็งของตัวเองออกมาให้ได้ มันมีสิทธิ์ที่จะพากันล้ม — ซึ่งพอโควิดมาก็เกิดขึ้นจริงๆ”
“ธุรกิจในวงการท่องเที่ยวที่ยังไม่ปรับตัวช่วงนี้ก็จะเป็นช่วงที่ทำให้เขาต้องล้มไป แต่ก็ไม่ใช่แค่ว่าหลายๆกิจการต้องล้มหายตายจากไปเพราะโควิดเสียทีเดียว เพราะเอาจริงๆภาคท่องเที่ยวของเชียงใหม่เริ่มหดตัวตั้งแต่ก่อนโควิดแล้วโดยเฉพาะกลุ่ม SME โควิดเป็นตัวเร่งปฏิกิริยา มันทำให้เราต้องดีดตัวและปรับตัว บางธุรกิจก็สามารถกลับตัวและได้กำไรเป็นกอบเป็นกำได้ก็มี”
“ช่วงพีคสุดๆของศูนย์วัฒธรรม ตอนนั้นมีพนักงานประมาณ 200 คนน่าจะได้ แต่ตอนนี้เราต้องทำให้องค์กรของเราเบาที่สุด ถ้าเรายิ่งหนัก การจะปรับเปลี่ยนอะไรก็จะค่อนข้างยาก”
“ตอนนี้เราก็รอว่าจะเปิดประเทศเมื่อไหร่ คือถ้าเทียบกับเหตุการณ์ที่ทำให้ธุรกิจของเราต้องปิด อย่างหน้าฝนเมื่อหลายปีก่อนที่ศูนย์วัฒนธรรมน้ำท่วม ทำให้ธุรกิจเรารับนักท่องเที่ยวไม่ได้ และก็ยังต้องมาซ่อมแซมสถานที่อีก เราเลยมองว่าโควิดเนี่ย โอเค แค่ไม่มีคน แต่ถ้าวันหนึ่งนักท่องเที่ยวกลับมาได้เราก็พร้อมรองรับได้ทันที”
ที่จริงที่ผ่านมามีโครงการหนึ่งชื่อ “เกษียณ มาร์เก็ต” ที่ได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างดี อยากให้คุณขิมเล่าถึงที่มาที่ไปของโครงการนี้สักหน่อยครับว่าไอเดียมันคืออะไร?
“เกษียณ มาร์เก็ต จริงๆแล้วเป็นไอเดียที่ทีมงานของเราช่วยกันคิดขึ้นมา โดยเราได้สังเกตพฤติกรรมของผู้สูงอายุแล้วเราก็เห็นว่าเขาไม่ได้มีอายุเยอะขึ้นแล้วทำตัวตามวัย เขายังเป็นผู้สูงอายุที่มีศักยภาพ ยังสนใจที่จะพบเจอผู้คนอยากมีปฏิสัมพันธ์ทำกิจกรรม พูดง่ายๆก็คือเป็นคนที่ยังมีไฟอยู่แค่อายุเยอะขึ้นเท่านั้นเอง แล้วก็ผู้คนเหล่านี้ไม่มีพื้นที่ที่จะได้แสดงศักยภาพเราก็เลยจัดพื้นที่ตรงนี้ขึ้นมาเพื่อ empower กลุ่ม sliver aging”
“ซึ่งกลุ่มผู้สูงอายุที่มาออกร้านในตลาดไม่ใช่กลุ่มที่ต้องหาเช้ากินค่ำหรือทำงานอย่างเดียว เขามาเพราะว่ามันเป็นงานอดิเรกเป็นความชอบของเขา เพราะว่าส่วนใหญ่คนที่มาออกร้านขายของคือกลุ่มคนที่เกษียณไปแล้ว บางคนเขาก็ลองปลูกแคคตัส ลองทำเบเกอร์รี่ ลองทำงานแฮนด์เมด แล้วก็เอามาขายในงาน เลยเกิดบรรยากาศเหมือนมีเพื่อนแชร์ เอาของมาขายกัน และเกิดการสร้างมิตรภาพใหม่ในงาน หรือบางคนไม่เจอกันมานานตั้งแต่สมัยจบมัธยมก็ได้กลับมาเจอกันที่นี่”
“กลุ่มผู้สูงอายุที่อยู่ในงานเขาจะมีประวัติศาสตร์ร่วมกันกับศูนย์วัฒนธรรมเพราะเป็นช่วงที่เขาเป็นวัยรุ่น เป็นตอนที่ศูนย์วัฒนธรรมพึ่งเปิดใหม่ๆและในอดีตไม่มีห้าง ไม่มีที่ให้คนมาพบกัน ศูนย์วัฒนธรรมก็เหมือน Community Mall ที่หนึ่ง ที่คนในสมัยนั้นจะมาพบปะกันตามงานอีเวนท์ต่างๆ มันเลยทำให้คนกลุ่มนี้มีความทรงจำดีๆกับที่นี่ เขาก็จะมาเจอกัน มาขายของ มาฟังเพลง เต้นรำ ทานอาหารอร่อยๆ”
ต่ายมีโอกาสได้เห็นเกษียณ มาร์เก็ตในช่วงนั้นด้วย ตอนนั้นมันเป็นช่วงที่โควิดเริ่มซา ก็จะมีเด็กๆมาเรียนรู้มาเรียนสานปลาตะเพียนกับคุณตาคุณยาย มันเหมือนเราได้เห็นสองช่วงวัยที่ถูกถ่างออกด้วยเทคโนโลยีได้มาพบกัน มันเป็นภาพที่สวยงามและมีความอบอุ่นอย่างมาก เพราะการที่คนสองยุคที่ห่างกันหลายสิบปีมาทำกิจกรรมร่วมกันได้นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลยในยุคปัจจุบัน
“ตอนแรกที่ทำเราไม่ได้กะไว้ว่าจะมีเด็กมาด้วย แต่พอเราจัดไปคุณตาคุณยายเขาก็จะพาหลานมาด้วย เลยทำให้เกิดไอเดียว่ามันมีการเชื่อมต่อระหว่างช่วงวัยเหมือนกันนะ บางคนลูกก็พาพ่อแม่มา และก็จะมีอีกช่วงวัยหนึ่งมาด้วย ตรงนี้ก็เลยทำให้เรารู้สึกว่าประสบความสำเร็จในการเชื่อมต่อระหว่างช่วงวัย เลยทำให้เกิดเป็นภาพครอบครัวสุขสันต์ในงาน ทั้งที่ตอนแรกเราคิดว่าจะเห็นแค่ sliver ageing แต่ปรากฏว่ามีคนตามมาด้วย อย่างร้านบางร้านเช่น กะหรี่ปั๊บป้าขอด เขาก็พากันมาช่วยกันขาย” มันเหมือนเป็นรอยยิ้มที่เกิดขึ้นได้ในช่วงเวลาที่โศกเศร้า
คิดว่าอนาคตของศูนย์วัฒนธรรมจะไปทางไหนต่อ? นักท่องเที่ยวจะกลับมาเชียงใหม่อีกไหม? เห็นคุณขิมบอกเมื่อกี้ว่าที่จริงการท่องเที่ยวของเชียงใหม่เริ่มลดลงตั้งแต่ก่อนโควิดจะมาแล้วด้วยซ้ำ เพราะอะไรถึงคิดแบบนั้นและคิดว่าทางออกควรเป็นแบบไหน?
“คิดว่าเชียงใหม่ยังเป็นเมืองที่คนอยากจะท่องเที่ยวอยู่ แต่จะทำยังไงให้เชียงใหม่เป็นเมืองท่องเที่ยวที่ยั่งยืน ซึ่งตัวขิมเองก็สงสัยอยู่นะคะ ว่าการท่องเที่ยวเนี่ยมันช่วยพัฒนาเชียงใหม่จริงหรือเปล่า หรือทำให้เชียงใหม่สูญเสียอะไรบางอย่างไปแทนที่จะพัฒนา อาจจะเติบโตทางสิ่งปลูกสร้างหรือเศรษฐกิจ แต่ในเรื่องของวัฒนธรรมหรือสิ่งแวดล้อมมันกลับโดนการท่องเที่ยวทำลายหรือเปล่า ก็เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความสงสัยมาตลอด”
“ขิมเคยไปช่วยโครงการหนึ่งมาและได้ไปสังเกตดูเกี่ยวกับเมืองเชียงใหม่ ก่อนโควิดก็เห็นว่าคลองแม่ข่าซึ่งเป็นหนึ่งในไชยมังคละของเชียงใหม่ ตอนนี้มีสภาพเป็นยังไง หลายคนก็จะคิดว่าชาวบ้านที่อยู่ริมคลองเนี่ยทำให้น้ำเน่าเสีย เราเลยอยากไปดู ช่วงนั้นยังไม่มีโควิดเราก็เห็นว่าน้ำมันดำจริงๆ แต่มันดำเป็นช่วงๆ ซึ่งช่วงที่ดำเนี่ยจะเป็นช่วงที่ผ่านโซนเศรษฐกิจ ไนท์บาซาร์หรืออะไรช่วงนี้ ในขณะที่พอผ่านชุมชนก็ไม่ได้จะเน่าเสียอะไรขนาดนั้น เราก็เลยเห็นว่ามันมาจากสถานประกอบการท่องเที่ยวที่อาจจะไม่มีการบำบัดน้ำเสียหรือเปล่า”
“พอหลังโควิดเรากลับไปดู ก็เหมือนได้ตอบคำถามเราเหมือนกัน เพราะช่วงนั้นคลองแม่ข่าน้ำใส ปริมาณน้ำเสียตรงประตูระบายน้ำมันสะอาดขึ้นเยอะ ไม่ต้องเก็บตัวอย่างน้ำไปตรวจอะไรเลย เราก็เลยรู้ว่าการท่องเที่ยวก็มีผลทำลายเมืองเหมือนกันนะ”
“หลังโควิดก็ต้องมาดูกันว่าผู้ประกอบการจะนำธุรกิจตัวเองไปทางไหน จะทำให้ยั่งยืนหรือเปล่าหรือว่าจะแข่งกันทำราคาเหมือนเดิม และทำให้เมืองเชียงใหม่ค่อยๆเน่า ซึ่งเราก็กำลังมองอยู่ว่าผู้ประกอบการในเมืองเชียงใหม่จะสนใจและให้การตอบรับยังไงกับเรื่องนี้”
- แต่นั้นก็หมายความว่าศูนย์วัฒนธรรมเองก็ต้องเปลี่ยนแปลงด้วย เพราะไม่เพียงแต่ว่าตอนนี้คนรุ่นใหม่ๆจะมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปแล้ว ไม่ได้มาเที่ยวศูนย์วัฒนธรรมเหมือนสมัยก่อน เราจะปรับยังไงให้มันยั่งยืนมากขึ้นหรือว่าจะหันไปทางไหนที่ชัดเจนมากกว่านี้
ตอนนี้ถ้าถามว่าแผนระยะยาว ศูนย์วัฒนธรรมจะต้องปรับในแผนโครงสร้างองค์กรก่อน แต่ว่าในส่วนของภายนอกเราก็เริ่มจะมองหาว่าในภาคการท่องเที่ยวมันจะเชื่อมโยงกับกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมหรือรักษาวัฒนธรรมของชุมชนได้ยังไง
“เรามองหากลุ่มเพื่อให้ช่วยกันดีไซ โดยเราก็วางเป้าไว้เหมือนกันว่ารูปแบบการท่องเที่ยวหลังโควิดเราจะต้องเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ยั่งยืนมากขึ้น และก็ต้องมีการกระจายรายได้ให้กลุ่มชาวบ้านมากขึ้น และต้องมีการพัฒนาเชื่อมโยงตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ”
“หลายๆมหาลัยในเชียงใหม่ก็มีการเข้ามาสร้างนวัตกรรมเพื่อช่วยเหลือ ไม่ว่าจะพัฒนาวัตถุดิบในการเกษตรหรือว่าผลิตภัณฑ์ด้านอาหาร การดีไซน์ คุณค่าของอาหาร วัฒนธรรมที่จะส่งมอบให้ผู้บริโภค ตอนนี้เราก็เหมือนคนที่อยู่ตรงกลาง”
“สงครามราคานอกจากจะทำให้ธุรกิจในเชียงใหม่แย่ลง ก็ต้องไปตัด ไปบีบเกษตรกรแล้วก็วนลูปเดิม อาจจะต้องเผาและทำลาย ทุกอย่างมันเชื่อมต่อกันหมดเลย ถ้าปลายน้ำไม่เห็นคุณค่า ต้นน้ำก็จะโดนกดราคาและสุดท้ายสิ่งแวดล้อมก็อาจจะพังและเกิดฝุ่นควันเหมือนเดิม และลูกค้าก็จะไม่มา”
“ตอนนี้คนที่มาเที่ยวเองมากขึ้น (Free Independent Travelers) ไม่ผ่านบริษัททัวร์ก็มาเยอะขึ้นก็เหมือนเวลาเราจะไปไหนเราก็จะจัดการวางแผน จองโรงแรมเอง ค้นหาร้านและสถานที่ท่องเที่ยวเอง เป็นเทรนด์ที่เราไปเที่ยวด้วยตัวเองเรียนรู้ด้วยตัวเอง และเราคิดว่าจะลงไปหาตลาดในกลุ่มนี้มากยิ่งขึ้นด้วย”
- สุดท้ายแล้วคุณขิมคิดว่าศูนย์วัฒนธรรมในแบบที่คุณขิมต้องการให้มันออกมานั้นจะเป็นแบบไหน แล้วคิดว่าเชียงใหม่จะดีขึ้นเหมือนที่คุณขิมคิดรึเปล่า?
“คิดว่าเชียงใหม่จะดีขึ้นนะคะ เพราะโควิดทำให้หลายๆคนได้รับบทเรียนและได้เห็นอะไรบางอย่างจากการที่โควิดเกิดขึ้น รวมถึงทำให้เขาเห็นว่าถ้าทำแบบเดิมมันจะไม่มีความยั่งยืนทั้งธุรกิจและเมือง แต่ก็อยู่ที่ว่าคนจะสนใจทำออกมาในทิศทางไหน”
“สำหรับศูนย์วัฒนธรรม เราอยากจะปรับพื้นที่ตรงนี้ให้เป็นพื้นที่สำหรับคนเชียงใหม่จริงๆด้วย เพราะถ้าถามว่าพื้นที่ที่คนเชียงใหม่สามารถเอาไปอวดคนต่างท้องที่ได้ก็มีแต่ห้าง เราก็มีแผนอยากจะปรับให้เป็นที่ที่คนเชียงใหม่ได้มาเรียนรู้ นำเสนอความคิดและความเป็นตัวตนของตัวเอง”
คุณขิมยิ้มก่อนจะตบท้าย
“แต่ตอนนี้ต้องให้ทุกคนรอดกันก่อนนะคะ” (หัวเราะ!!!)
ข้อมูลติดต่อ :
เว็บไซต์ : http://www.oldchiangmai.com/
แฟนเพจ : Old Chiangmai – โอลด์ เชียงใหม่
เบอร์โทรศัพท์ : +6653202992
แผนที่ : https://g.page/old-chiang-mai-cultural-center?share