จากเด็กเสเพลจนกลายเป็น ‘เต๋อตำยำระเบิด’
ถ้าพูดถึงร้านส้มตำในเชียงใหม่ ชื่อของร้าน “เต๋อตำยำระเบิด” นั้นคงติดอยู่หนึ่งในนั้น ร้านส้มตำที่ถือว่าเป็นร้านที่มีคนถกเถียงกันตลอด บางคนก็บอกตำอร่อยมาก บางคนก็บอกพ่อค้าพูดไม่เพราะไม่อยากไป บางคนก็บอกก็ไปกินส้มตำไม่เห็นต้องสนใจ บางคนก็บอกบรรยากาศไม่ชวนให้ไปนั่งเลย ฯลฯ คืออย่างที่บอกว่าเป็นร้านส้มตำร้านหนึ่งที่คนมักจะพูดถึงเสมอไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม มีดราม่ามาเสมอ แต่ว่าถ้าพูดถึงรสชาติแล้ว ส่วนตัวต่ายชอบฝีมือการตำของเต๋อพอสมควร มันจัดจ้านและถึงพริกมาก และนั้นคือเหตุผลที่ว่าทำไมวันนี้ต่ายถึงอยากมาชวนคุณเต๋อคุยถึงเรื่องราวการทำงาน ความท้าทาย และประสบการณ์ที่ผ่านมาตลอดเจ็ดปีของ
เจ้าของร้านเต๋อตำยำระเบิด เชียงใหม่ ที่คิดว่าไม่มีใครไม่รู้จัก หรือถ้าพูดถึง Top 5 ร้านยำ เต๋อตำยำระเบิดก็ต้องติดอันดับทุกครั้งไป
คุณเต๋อเกิดที่เชียงใหม่และโตที่นี่ คุณเต๋อเล่าชีวิตก่อนหน้าที่จะมาเริ่มทำธุรกิจที่ค่อนข้างลำบากไม่น้อยเลยทีเดียว
“ก่อนหน้านี้พูดกันตามตรงก็เป็นเด็กเสเพล เด็กติดยาคนหนึ่ง ด้วยความที่เราอยู่ในสังคมที่ไม่ได้หรูหรา เราก็เกเรมาหลายปี”
จากเด็กเสเพลคนหนึ่งมาจนอายุยี่สิบกว่าๆ สิ่งที่ทำให้เป็นจุดเปลี่ยนคือการมีลูกคนแรก ตอนนั้นเขารู้แล้วว่าจะใช้ชีวิตเหมือนที่ผ่าน ๆ มาไม่ได้อีกแล้ว
“ตอนนั้นเงินจ่ายประกันลูกเราไม่มี เงินซื้อบุหรี่ม้วนหนึ่ง มวนละ 3 บาทก็ไม่มีเงินจ่าย ชีวิตเราตกต่ำขนาดนี้เลยเหรอ เราก็คิดว่าตอนนั้นต้องหยุดแล้วนะ ต้องพอแล้ว”
หลังจากนั้นคุณเต๋อก็มาขายน้ำผลไม้ปั่นกับลูกชิ้นทอดที่ใกล้ๆโรงแรมธาริน ข้างๆเมญ่า
“พอขายไปขายมารายจ่ายมันมากกว่ารายได้ เราจะทำยังไงดีแล้วทีนี้เราก็ดูที่บ้านที่บ้านขายส้มตำอยู่แล้ว ส้มตำป้าป๋องเจ็ดยอด เราเดินเข้าเดินออกทุกวัน เราก็คิดว่าน่าจะต้องลองดูนะ ถ้ามันเจ๊งเดี๋ยวค่อยเอาใหม่”
ด้วยที่ไม่ได้มีเงินทุนหรือต้นทุนอะไรก็เลยเป็นแม่ที่ลงทุนร้านให้ ตอนนั้นอาก็เสียชีวิตพอดีก็เลยเอารถของอามาขายของ
“ผมเป็นพวกไม่ลองทำก่อน ไม่ลองสูตรอะไร ทำขายแม่งเลย ถ้าเป็นคนอื่นต้องลองแต่ของผม เราดูเอาไง เราโตมากับตลาดเราดูน้าเรา เราดูแล้วเราก็ทำ แล้วเราก็เอาโว้ย เปิดร้านขายเลย ผมไม่ทำกินเองด้วย ผมขายเลยเพราะผมรู้ว่าต้องใส่นั่นนี่เท่านี้ เท่านั้นนะ เสร็จปุ๊บเราก็ไปลองผิดลองถูกกับลูกค้า”
“ลูกค้าคือสูตรของเต๋อตำยำระเบิดนะ ผมขายครั้งแรกที่โรงแรมธารินผมขายวันแรกขายได้ 3000 บาท ผมดีใจมาก”
เต๋อตำยำระเบิด มาจากการที่คุณเต๋อเอาชื่อตัวเองมารวมกับการตำการยำ รสชาติระเบิดจัดจ้าน คุณเต๋อเล่าให้ฟังว่ารู้สึกว่าการขายส้มตำยำมันเป็นสิ่งที่ให้กำไรเยอะ เพราะก่อนหน้านี้คุณเต๋อขายลูกชิ้นขายน้ำได้วันละพันกว่าบาท
“ต่อมาวันที่สอง ผมคิดว่าวันที่สองต้องขายดีแน่ แต่วันที่สองแป๊กครับขายได้แค่พันห้า เราอาศัยขายตรงหน้าร้านเป็ด เราคิดว่าเขาแค่อยากจะมาลองกัน และหลังจากนั้นก็เหลือวันละพัน”
แต่แล้วทุกอย่างก็พลิกกลับมาดีขึ้นโดยการใช้พลังของโซเชียลมีเดีย
“ตอนนั้นมีคนบอกเราว่าลองดูสิ ใช้เฟซบุ๊คให้เป็นประโยชน์มันมีกลุ่มอาหารนะ แล้วผมก็ขอให้เขาช่วยแนะนำผมหน่อย เขาก็แนะนำกลุ่มอาหารของแอดมินหมีให้ วันนั้นมีคนมากดไลก์ผมอยู่ประมาณ 3-4 ร้อยไลก์ ผมก็ดีใจคนมาจากไหนแล้วทีนี้คนก็เริ่มรู้จักแล้วก็มาลองชิม”
ตอนนั้นขายอยู่หน้าร้านเป็ดย่างและด้วยความที่เริ่มเป็นที่รู้จักทำให้มีคนเยอะขึ้นจะไปอาศัยโต๊ะของร้านเป็ดย่างก็เริ่มไม่ไหวแล้วเลยเริ่มซื้อโต๊ะกับเก้าอี้มา
“ตรงนั้นมีที่อยู่นิดนึง เราก็ซื้อโต๊ะมาสี่ตัวเพราะทุนไม่ค่อยมี วันแรกสี่ตัวไม่พอนั่งก็ขยับขยาย คนก็ไม่พอนั่งเราก็ซื้อโต๊ะเพิ่มทีละสอง จนเป็นสิบสี่โต๊ะ ตอนนั้นก็เริ่มคิดละว่าถ้าลูกค้ามาพร้อมกัน เราทำคนเดียวเดี๋ยวจะไม่ทำไม่ทันแล้วลูกค้าก็จะเสียอารมณ์ แล้วก็เป็นจริงๆ สมัยก่อนใครจะกินส้มตำร้านเต๋อต้องรออย่างน้อยครึ่งชั่วโมง”
“ตอนนั้นเราซื้อโต๊ะมาเยอะสุดถึงสิบหกโต๊ะ แล้วเวลาทำก็จะมีลูกค้ามายืนรออีกสิบยี่สิบคน พอเสร็จปั๊บเราก็โดนแจ้งว่าทำให้เกิดมลภาวะทางเสียงเพราะว่าคาแรคเตอร์ของเราคือใช้ประกาศรับอาหาร ตอนนั้นกาดทรัพย์ทองคำพึ่งเปิดใหม่เราก็เลยไปแล้วก็ย้ายมาขายตรงนี้”
“เฟซบุ๊คแฟนเพจผมมีคนติดตามสี่แสนกว่า เต๋อตำยำระเบิดเชียงใหม่ เนี่ย อาจจะเป็นเพราะว่าตอนนั้นผมลงโปรโมชั่นใครถ่ายรูปส้มตำได้ 99 ไลก์แจกส้มตำขนมจีนฟรี”
“คนมาติดตามอาจจะชอบคาแรคเตอร์ แล้วเราก็เป็นตัวของเราตั้งแต่แรกบางคนอาจจะมีทั้งชอบแล้วก็ไม่ชอบ อาจจะติดตามเพราะว่าพ่อค้าปากหมาดีหรืออะไรอย่างนั้น แต่สำหรับบางคนที่ไม่ชอบก็มีแต่ทุกวันนี้เปลี่ยนใหม่ตั้งแต่เจอดราม่า เราก็เปลี่ยนสไตล์ใหม่เลย”
“บางทีเราก็ต้องตีโจทย์ให้แตก อย่างตอนนี้เรามีห้องแอร์ เราเห็นว่าลูกค้าร้อนเราก็ทำห้องแอร์”
หลังจากที่ย้ายมาจากร้านเป็ด คนก็ตามมาเรื่อยๆและตอนนั้นก็เป็นช่วงที่คนเยอะและคุณเต๋อเองก็เป็นคนตำ คนยำเอง
“ผมเคยพูดไว้ว่าจะบูมก็ให้บูมเพราะรสมือและฝีปาก แต่ถ้าจะเจ๊งก็ให้เจ๊งด้วยรสมือและฝีปากเอง”
“ผมมีคำให้กำลังใจให้ตัวเอง ผมจะไม่ดูถูกตัวเอง ผมไม่ใช่ร้านอันดับหนึ่งในเชียงใหม่ แต่ผมต้องไม่ใช่ที่โหล่”
หลังจากที่ย้ายมาลูกค้าก็เยอะขึ้น คนก็รอเยอะขึ้นและอีกสิ่งหนึ่งที่ตามมาคือการเรื่องการพูดการจากับลูกค้า
“บางทีคำพูดผมเป็นคนพูดตรงๆ บางทีผมจะบ่นๆของผมเองแล้วลูกค้าได้ยินผมก็จะโดนว่าว่าปากหมาจัง แต่ผมส่วนมากจะไม่ด่าลูกค้าเลยขึ้นอยู่กับว่าเจอลูกค้าแบบไหน ส่วนมากผมจะกระเซ้าเย้าแหย่ เราก็จะมีการเล่นพูดไม่เพราะกับลูกค้าบ้าง บางทีไม่รู้กาละเทศะไปจริงๆ ผมก็ต้องขอโทษด้วย — บางทีเล่นไปเขามากับเพื่อนหรือลูกน้องแล้วเขาเสียหน้าต่อหน้าคนที่มาด้วย”
“มันเป็นความรู้สึกอยากจะเล่นกับลูกค้า แต่เราไม่สามารถทำให้ทุกคนมาชอบเราได้ทุกคนแต่เราก็ค่อยๆปรับเปลี่ยนไป”
“โซเชียลคือดาบสองคม มันก็เป็นเหมือนกับบทเรียนหนึ่ง ถ้าเราจะอยู่รอดในวงการนี้เราก็ต้องปรับเปลี่ยน”
“มันคืออาชีพเรา มันคือสิ่งที่ทำให้เรามีบ้านมีรถ จากวันนั้นที่เป็นเด็กเสเพลคนหนึ่ง จากจุดนั้นมาถึงจุดนี้เราก็พอใจในระดับหนึ่ง”
“ตอนนี้เปิดเฟรนชายด์มาแล้ว 20 กว่าที่ก็คือเขามาซื้อสูตร ใช้แบรนด์เรา แต่ก็ต้องบอกเลยว่าอาจจะไม่ได้อร่อยเหมือนกันได้ทุกที่ เพราะวัตถุดิบที่เราใช้มันก็ขึ้นอยู่กับพื้นที่ แต่ถึงให้เครื่องเดียวกันรสมือก็อาจจะต่างกัน”
โ
“โควิดกระทบครับ ระลอกแรกผมยังทำอาหารแจกอยู่เลยมีลูกค้ามาต่อคิวเยอะมาก แต่รอบสองก็พออยู่ได้นะ แต่รอบสามกระทบเลย กระทบมาก — ลูกค้าเราส่วนมากเป็นวัยรุ่น ถ้าพ่อแม่เขากระทบเขาก็ต้องประหยัดๆกัน”
“ของเต๋อตอนนี้มีเดลิเวอร์รี่แกร็บ แพนด้า ไลน์แมนแต่โควิดรอบนี้ผมวิ่งส่งเองนะเพราะเราต้องเอาให้ลูกน้องอยู่รอด เราเป็นหัวหน้าเขาผมวิ่งส่งลำพูนก็ไป ผมขี่เองเลย โรงพยาบาลสารภี ดอยสะเก็ด แม่โจ้ แม่วาง แม่ริมผมแว้นมอไซต์ — บางทีเขาก็มาขอถ่ายรูปตอนเราไปส่งด้วยนะ”
“พี่เต๋อหน้ากล้องกับหลังกล้อง ผมว่ามันก็ขึ้นอยู่กับคนมองบางทีคนเขาติดภาพเราปากหมาเขาก็จะบอกว่าเราปากหมา แต่บางทีเขารู้จักเราเขาก็จะรู้ว่าเราเป็นคนแบบนี้จริงๆไม่มีอะไร”
“วัตถุดิบของร้านเต๋อผมเป็นคนดูเอง ไก่ผมก็หมักเอง ผมเลือกของเองแต่ลองกับลูกค้า อย่างเมนูใหม่ของร้านตอนนี้คือกุ้งแก้ว หนึบๆกรอบๆอร่อย”
“เมนูที่ดังที่สุดคือยำหอมหมี หรือเรียกว่าเกาหลาหอย ตอนนั้นที่บูมๆนะ 30 กิโลต่อวันแต่เราคัดและเลือกของสดๆต่อวัน แต่ช่วงนี้ก็โควิด 15 กิโลขายได้ผมก็โคตรดีใจละ”
ด้วยความที่คู่แข่งเยอะขึ้นเต๋อตำเลยต้องปรับตัว
“ถ้าเราจะอยู่รอด เราต้องปรับตัวหลายๆอย่างให้ดีขึ้น แต่ถ้าเป็นเรื่องราคาผมขายราคานี้มา 7 ปีแล้ว พริกจะถูกจะแพง ผมก็ขายส้มตำ 30 บาท แต่ถ้าเป็นออนไลน์จะบวกต่อหน้าร้านไป 30%”
“ขายหน้าร้านราคาเท่าหน้าร้านแต่ออนไลน์ต้องบอกว่าผมโดน 30% ก็อยู่ที่ว่าเราต้องบวกเพิ่มลูกค้าหรือว่าเข้าเนื้อเอง อย่างตำปูม้า ผมขาย 100 บาท ต้มทุนผมไปละ 80 ถ้าผมโดนหักไป 30 บาท ผมก็เข้าเนื้อ 10 บาทแล้วผมจะขายทำไม ผมมีค่าเช่าที่ ผมมีค่าลูกน้องและรายจ่ายจิปาถะ เราก็เลยต้องบวกเพิ่ม”
“ถ้าสั่งผ่านผมราคาเท่าหน้าร้าน แต่ค่าส่งระยะทางกิโลละ 10 บาทผมไปส่งเอง ลูกค้าก็เข้าใจนะ”
“อย่างวันนั้นปูไข่ดอง ลูกค้าอยู่ดอยสะเก็ดลูกค้าโดนไป 900 ถ้าขายหน้าร้าน 600 เขาก็มาคุยกับผม ผมก็เลยบอกว่าถ้าอย่างนี้วันหลังสั่งผ่านผมได้นะผมคิดกิโลละ 10 บาทไปบ้านพี่ก็ 120 บาท อะไรประมาณนี้”
“บางคนเขาก็อยากเจอผม ใกล้ไกลแค่ไหนผมไม่ว่าถ้าเขาบอกว่าอยากให้พี่เต๋อไปส่งผมคิดโลละ 10 บาท อย่างตอนนั้นไปแม่วางผมก็ไปส่ง”
ความสุขคือการได้มอบความอร่อยให้เขา ถึงแม้ว่าบางคนอาจจะไม่ถูกปากแต่ผมก็ยังเชื่อว่ามีอีกหลายคนที่ถูกปากในรสมือผม
อย่างตอนแรกที่ทำก็ไม่ได้เริ่มจากความทะเยอทะยานว่าต้องดีที่สุด มันเริ่มจากการที่เราอยากจะอยู่รอด มีเงินใช้ การที่จะทำอย่างทุกวันนี้คงเป็นความสุขของเต๋อตำยำระเบิด
“อย่างน้อยวันนี้เราได้เดินดูเดินถามลูกค้าว่าวันนี้อร่อยไหมครับ ก็อย่างที่ผมบอกว่าสูตรของเรามาจากลูกค้า ถ้าลูกค้าแนะนำมาผมก็ฟังนะ”
“มันอยู่ที่ว่าลูกค้าพูดยังไงกับผม บางทีมาติอย่างนี้ๆผมก็ไม่ฟังหรอกก็ให้ไปกินที่อื่น แต่ถ้าเขาพูดแนะนำดีๆผมก็จะฟัง เนี่ยผมจะตายเพราะอย่างนี้แหละ”
ถ้าผมไม่แคร์ลูกค้า ผมอยู่ไม่ถึงเจ็ดปีหรอก ผมเปิดมาเจ็ดปีถ้าผมไม่แคร์ลูกค้าผมอยู่ไม่รอดหรอก ผมก็ไม่ใช่ว่ามีของดีแต่ผมก็ยังอยู่รอดมาตั้งเจ็ด
ความจริงแล้วเต๋อก็เป็นคนที่ดูแลลูกค้าได้ดี บางทีภาพลักษณ์ภายนอกของเต๋อที่ดูเป็นคนพูดจาขวานผ่าซากไปบ้าง วันที่ต่ายได้ไปสัมภาษณ์ก็พบว่าคุณเต๋อเขาใส่ใจลูกค้า ขนาดที่ว่าตัวเองสัมภาษณ์อยู่แต่ถ้าลูกค้าเข้าร้านมาก็จะยิ้มต้อนรับและส่งสัญญาณให้น้องๆพนักงานไปดูแล ประโยคที่ติดหูต่ายก่อนจะออกจากร้านนี้ก็คือการที่คุณเต๋อตะโกนว่า
“สวัสดีครับพี่ เชิญนั่งก่อนครับ”
ติดต่อ :
Fanpage : เต๋อตำยำระเบิด เชียงใหม่
Maps : https://g.page/tertumyumraberd?share
Tel. : +66807915679