The Rise of Virtual Human Influencers : มิติใหม่ของโลกโฆษณาด้วยการใช้อินฟูลเอนเซอร์ที่เป็น ‘มนุษย์เสมือน’
“Influencer” หรือ “อินฟูลเอนเซอร์” เชื่อว่าตอนนี้คงไม่มีใครไม่รู้จักคำนี้อีกแล้วในโลกถ้าอยู่ในโลกของธุรกิจ มันหลายเป็นหนึ่งในอาชีพของโลกยุคใหม่ที่ใครหลายต่อหลายคนอยากจะทำ กลายเป็นส่วนหนึ่งของการทำตลาดของแบรนด์น้อยใหญ่ต่างๆมากมายที่ช่วยทำให้สินค้าและบริการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างตรงจุดมากยิ่งขึ้น เพราะกลุ่มคนเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็น YouTuber, Blogger, Vlogger, TikToker หรืออะไรก็ตาม ต่างมีผู้ติดตามของตัวเอง เป็นแฟนคลับขนาดย่อมที่เชื่อถือในตัวอินฟูลเอนเซอร์เหล่านั้น เพราะฉะนั้น Influencer Marketing กลายเป็นส่วนที่ทำให้แบรนด์เติบโตในโลกโซเชียลได้เป็นอย่างดี
ตลอดช่วงเวลาสิบกว่าปีที่ผ่านมาของตลาด influencer ที่เติบโตนั้นขึ้นมาเรื่อยๆนั้นมีส่วนประกอบที่สำคัญคือมนุษย์ที่เป็นคนกระจายเนื้อหาและโฆษณาสู่ผู้ติดตามของพวกเขา ซึ่งเหล่าอินฟลูเอนเซอร์ทั้งหลายสร้างรายได้จากการดีลกับแบรนด์ต่างเพื่อนำสินค้าหรือบริการมาพูดถึง มาใช้ มากล่าว บอกต่อ ซึ่งถ้าเป็นอินฟูลเอนเซอร์ที่มีชื่อเสียงหน่อยอย่าง Alisha Marie ที่เป็น YouTuber ก็จะมีรายได้เฉลี่ยราวๆ $50,000 ต่อคลิปความยาวประมาณ 2 นาที หรือคิดเป็นเงินไทยก็ประมาณ 1,500,000 บาท เพื่อพูดเกี่ยวกับสินค้าตัวหนึ่ง (https://www.youtube.com/watch?v=CV3qFVrsT0U&t=17s)
จากรายงานของ Business Insider Intelligence (https://www.businessinsider.com/influencer-marketing-report?r=AU&IR=T) บอกว่าภายในปี 2022 แบรนด์ต่างๆทั่วโลกจะใช้เงินใน Influencer Marketing กว่า 15,000 ล้านเหรียญ หรือราวๆ 4.6 แสนล้านล้านบาทเลยทีเดียว
แต่โลกของเหล่าอินฟูลเอนเซอร์กำลังจะเปลี่ยนไปแล้ว เมื่อตอนนี้ที่ “มนุษย์เสมือน” หรือ Visual Humans กำลังเริ่มโผล่ขึ้นมาให้เห็นตามโซเชียลมีเดียกันมากขึ้น
ก่อนอื่นอาจจะต้องอธิบายให้ทุกคนเข้าใจก่อนว่า “Visual Humans” หรือ “มนุษย์เสมือน” เป็นคำนิยามเพื่อใช้อธิบายมนุษย์ที่เป็นคาแรคเตอร์ที่มีอยู่บนโลกเสมือน ถูกสร้างขึ้นมาโดยเทคนิคทางคอมพิวเตอร์ ไม่มีอยู่ในโลกของความจริง (ยัง) จับต้องไม่ได้ และมีความเหมือนมนุษย์คนหนึ่งๆเลยทีเดียว
มารู้จัก “Lil Miquela” หนึ่งใน ‘มนุษย์เสมือน’ (https://www.instagram.com/lilmiquela/) ที่เป็นอินฟูลเอนเซอร์คนหนึ่งบนโลกโซเชียลมีเดีย มียอดติดตามบน Instagram ตอนนี้ประมาณสามล้านคนและเติบโตขึ้นเรื่อยๆ เธอถูกสร้างขึ้นมาโดยบริษัท Brud ที่เชี่ยวชาญเรื่องหุ่นยนต์ และ AI ซึ่งถ้าใครตามลิ้งค์เข้าไปดูจะรู้ว่าตอนแรกๆที่มองผ่านๆ เธอมีความเหมือนมนุษย์อย่างมาก แต่ถ้าซูมเข้าไปใกล้ หรือมองให้ชัดเจนอีกนิดหนึ่งแล้วจะเห็นว่าเธอเป็นคอมพิวเตอร์กราฟฟิคสามมิติที่ทำออกมาได้เนียนมากๆต่างหาก
ถึงแม้ว่าถ้าเข้าไปดู Instagram ของ Miquela ส่วนใหญ่จะเป็นคอนเทนท์ที่เธอร้องเพลง โพสต์ภาพแฟชั่น หรือ ซื้อของใช้ต่างๆเหมือนเด็กผู้หญิงธรรมดาๆคนหนึ่ง เราจะเห็นว่านอกจากเรื่องเหล่านี้แล้ว เธอยังมีงานโฆษณาเป็นพรีเซนเตอร์ให้กับแบรนด์ใหญ่ๆมากมาย ล่าสุดมีวีดีโอโปรโมทรถยนต์ไฟฟ้าของ MINI Cooper SE ที่เธอบอกว่า “นวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์คือสิ่งที่ทำให้เรานั้นเคลื่อนไปข้างหน้าได้ แทบจะรอไม่ไหวที่จะได้เห็นปลายทางที่เราจะไปด้วยกัน”
นอกจากจะเป็นพรีเซนเตอร์แล้ว ยังมีเรื่องของการแสดงจุดยืนทางการเมืองอย่างสเตตัส ##blacklivesmatter ที่เธอเขียนติดเอาไว้เพื่อสนับสนุนการเคลื่อนไหว เวลามีคนมาคอมเมนท์เธอก็จะคอมเมนท์ตอบหรือโพสต์เกี่ยวกับการดูแลตัวเอง รักตัวเอง และยอมรับในสิ่งที่ตัวเองเป็นด้วย
Miquela เป็น ‘มนุษย์เสมือน’ ที่ถูกสร้างด้วย CG ก็จริงอยู่ แต่การมีตัวตนอยู่ของเธอนั้นก็สร้างผลกระทบกับมนุษย์ที่เป็นผู้ติดตามจริงๆไม่ต่างจากอินฟูลเอนเซอร์มนุษย์คนอื่นๆเลย
สิ่งที่น่าสนใจคือหลายคนโพสต์คอมเมนท์ถามว่าเธอเป็นคนจริงๆรึเปล่า หลายคนมาคอมเมนท์ชม แสดงความคิดเห็น มีบ้างที่เกรียนด่า แต่ก็ไม่มากเท่าไหร่ มีกลุ่มแฟนคลับที่ชอบเอาผลงานของเธอไปลงไว้รวมๆกันอีกด้วย ประเด็นก็คือว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับเธอนั้นไม่ต่างจากอินฟูลเอนเซอร์คนอื่นๆบนโซเชียลมีเดียเลยสักนิด
เมื่อกี้พูดเกริ่นถึงงานที่ Miquela ได้รับกับ MINI Cooper ไว้นิดหนึ่ง แต่ว่าก่อนหน้านั้นเธอก็เป็นนางแบบให้กับ Calvin Klein คู่กับนางแบบ Bella Hadid (https://www.thecut.com/2019/05/bella-hadid-lil-miquela-calvin-klein-apology.html) ที่เป็นกระแสอยู่พักหนึ่งเนื่องจากวีดีโอโฆษณาที่ออกมา Bella Hadid มีการจูบกับ Miquela ซึ่งเป็น CG จึงเกิดเป็นประเด็นเรื่องที่ว่า Calvin Klein ไปทำให้ความสัมพันธ์ของเพศทางเลือกดูเป็นเรื่องที่ไม่มีอยู่จริงขึ้นมาอีก ซึ่งภายหลัง Calvin Klein ก็ออกมาแสดงความเสียใจและแถลงว่าโฆษณาที่ทำออกไปแบบนี้เพื่อจะแสดงให้เห็นถึงอิสรภาพในการแสดงออกของตัวตนและเพศสภาพ และยอมรับความเห็นที่เป็นประโยชน์จากทุกๆคนด้วย
ในปี 2018, Miquela ถูกเชิญไปยังงานแฟชั่นโชว์ที่ Milan โดยมีการลงโพสต์เสื้อผ้าคอลเลคชั่นใหม่บน Instagram ได้โพสต์ภาพคู่กับ Steve Aoki และ Millie Bobby Brown ในโฆษณาชิ้นอื่นๆด้วย
ซึ่งก็เลยกลายเป็นคำถามที่ว่าอินฟูลเอนเซอร์ที่เป็นมนุษย์จะยังจำเป็นอยู่ไหม?
สำหรับแบรนด์ต่างๆแล้ว การมีอินฟูลเอนเซอร์ที่สามารถควบคุมได้ 100% และเข้าถึงกลุ่มลูกค้าของตัวเองได้เป็นเรื่องที่ยิ่งกว่าฝันเป็นจริง บริษัทไม่จำเป็นต้องห่วงเรื่องของข่าวฉาวหรือพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ที่จะเกิดขึ้น และสามารถใช้เพื่อโปรโมทสินค้าและบริการของตนเองเมื่อไหร่ที่ไหนยังไงก็ได้
ซึ่งเมื่อไปดูกันจริงๆแล้ว Miquela ก็ยังมีเพื่อนที่เป็น ‘มนุษย์เสมือน’ ที่ทำงานคล้ายๆกัน มีคนติดตามหลายแสนคนบน Instagram และก็ค่อยๆปั้นฐานผู้ติดตามขึ้นมา เจริญรอยตาม Miquela เลยก็ว่าได้ (แม้ว่าจะยังห่างไกลสักหน่อย) ในโพสต์นี้ (https://www.instagram.com/p/CJOtz4sHPqj/) เราจะเห็นเพื่อนๆของ Miquela ชื่อ Blawko (https://www.instagram.com/blawko22/) และ Bermuda (https://www.instagram.com/bermudaisbae/) ที่ถูกสร้างโดย Brud เช่นเดียวกัน http://brud.fyi/ ซึ่งตอนนี้มูลค่าบริษัทของ Brud อยู่ที่ราว 125 ล้านเหรียญจากรายงานของ Tech Crunch ซึ่งได้รับเงินทุนสนับสนุนจากบริษัทลงทุนอย่าง Sequoia Capital และ BoxGroup กว่า 6 ล้านเหรียญด้วย แน่นอนความสำเร็จแบบนี้ก็นำมาซึ่งคู่แข่งในตลาด Superplastic และ Toonstar ก็มีการสร้างมนุษย์เสมือนของตัวเองขึ้นมาเพื่อให้เป็นอินฟูลเอนเซอร์เช่นเดียวกัน
มันเป็นเพียงความฮิตฮือฮาชั่ววูบรึเปล่า หรือ มนุษย์เสมือนแบบนี้จะอยู่กับเราไปเรื่อยๆ (อย่าลืมว่าพวกเขาไม่มีทางแก่ตายนะ ยกเว้นแต่ว่าจะถูกโปรแกรมให้ชราภาพได้ด้วย) ตอนที่เข้าไปดู instagram ของพวกเขา ต้องขยี้ตาหลายรอบมาก เพื่อให้ชัวร์ว่าตาไม่ฝาดและพวกเขาไม่ใช่มนุษย์จริงๆ มันยากที่จะเชื่อ คอมเมนท์ที่แทบทุกรูปจะมีก็คือ “คุณเป็นหุ่นยนต์จริงๆเหรอ? ไม่จริงใช่ไหม?” โดยเฉพาะเมื่อพวกเขายืนแบบเดี่ยวๆที่ไม่มีมนุษย์จริงๆขนาบข้างๆ จะแยกออกยากมากๆเลย
ในตอนนี้คงยากที่ ‘มนุษย์เสมือน’ จะหายไปไหนง่ายๆ บริษัทต่างๆเริ่มให้ความสนใจกันมากขึ้น แต่มันก็ยังเข้าถึงได้ยากถ้าไม่ใช่แบรนด์ที่ใหญ่จริงๆ มนุษย์ที่เป็นอินฟูลเอนเซอร์นั้นน่าจะยังไม่ตกงานง่ายๆ เพียงแต่ต้องรู้เอาไว้ว่าทุกอย่างมันเปลี่ยนแปลงได้ ถ้าเทคโนโลยีของ Brud นั้นสามารถเข้าถึงได้มากขึ้น อย่างเช่นเปิดโอกาสให้แบรนด์สร้างมนุษย์เสมือนเพื่อเป็นอินฟูลเอนเซอร์ของตัวเองได้ อันนี้ก็น่าจะต้องเป็นห่วงมากอีกหน่อย
มันยังเป็นคอนเซ็ปท์ที่ยังใหม่ คงยากที่จะบอกว่าจะเป็นเทรนด์ที่พลิกโฉมวงการอินฟูลเอนเซอร์ในอนาคตรึเปล่า แต่อย่างน้อยๆเราก็เห็นกันแล้วว่างานของมนุษย์ ไม่จำเป็นต้องมีมนุษย์จริงๆเป็นส่วนประกอบก็ได้