Tinder พื้นที่คนเหงาเพื่อความสัมพันธ์ฉาบฉวยหรือโอกาสทำความรู้จักคน(โสด)ใหม่ๆ
“มนุษย์เป็นสัตว์สังคม” — ต่อให้เป็นคนที่ชอบอยู่คนเดียวที่สุด ก็ยังอยากให้มีใครสักคนรู้ว่าเขาอยากอยู่คนเดียว ถ้าเราไม่วิ่งไปหาคน คนก็จะวิ่งมาหาเราอยู่ดี
นี่คือสิ่งที่ผู้เขียนได้เรียนรู้เกี่ยวกับคน หลายๆคนมักจะคิดว่าผู้เขียนเป็นคนที่นิ่งๆ ไม่ค่อยชอบสุงสิงกับใคร แต่ในความเป็นจริง ผู้เขียนชอบทินเดอร์มากค่ะ 😛
- Tinder คืออะไร?
ทินเดอร์คือแอปพลิเคชั่นรูปลูกไฟสีแดง (tinder แปลว่า วัตถุไวไฟ) ที่มีไว้ให้ผู้ใช้ลงทะเบียน อัพโหลดรูปและข้อความต่างๆลงไป เพื่อหาคนใหม่ๆ โดยวิธีการเล่นก็คือจะเข้าไปที่หน้าค้นหาผู้คน จากนั้นจะมีการ์ดหน้าของผู้ใช้อื่นแสดงขึ้นมา ในการ์ดนั้นบางคนอาจจะแสดงระยะทางว่าห่างกันเท่าไหร่ (แบบ Realtime) สถานศึกษาและอายุประกอบอยู่ในหน้านั้นด้วย ถ้าถูกใจก็ปัดขวา ถ้าไม่ถูกใจก็ปัดซ้าย ผู้ใช้ที่เราปัดขวาก็จะถูกนำไปอยู่ในกลุ่มคนที่เราถูกใจ เมื่อเราปัดซ้ายคนคนนั้นก็จะไม่ขึ้นมาอีกเลย เมื่อปัดไปทางใดทางหนึ่งแล้วก็จะมีคนใหม่ขึ้นมาแทน แต่ถ้าแมตซ์กัน ตัวแอปจะแสดงสถานะขึ้นว่า “แมตซ์” และทั้งสองผู้ใช้ก็จะสามารถพูดคุย(แชท)กันได้
เราจะแมตซ์กี่คนก็ได้ จะคุยพร้อมกันกี่คนก็ได้หรือบางคน เมื่อแมตซ์แล้วก็จะแลกเปลี่ยน ID ในแอปพริเคชั่นอื่นไปคุยกันต่อ สำหรับผู้เขียนแล้วทินเดอร์เป็นแอปหนึ่งที่ทำให้เราได้รู้จักคนเยอะขึ้นและมากกว่าการหาคู่เราได้พบคนใหม่ๆ แนวคิดใหม่ๆ มุมมองใหม่ๆ จากคนที่เราไม่คิดว่าจะได้พบ ซึ่งบางมุมเราจะไม่มีทางได้เจอจากคนคนนั้นในชีวิตประจำวันแน่ๆ
อย่างไรก็ตาม Tinder แอปพลิเคชั่นหาคู่ชื่อดัง เป็นแอปที่ผู้ใช้เหนียมอายที่จะบอกว่าตัวเองก็มี และมักจะหลีกเลี่ยงที่จะปัดขวา หรือบ่ายเบี่ยงที่จะพูดถึงเวลาที่เห็นคนรู้จักอยู่บนแพลตฟอร์ม
‘เล่นนานแล้วนะ บัญชีค้างมั้ง’
คือประโยคที่ผู้เขียนมักจะได้รับคำตอบมาบ่อยๆเวลาที่ไปจ๊ะเอ๋กับเพื่อนในทินเดอร์
แต่ในความเป็นจริงแล้วใครก็ตามที่เคยใช้ทินเดอร์หรือรู้จักจริงๆแล้วจะทราบดีว่ามันมีมุมที่ลึกและซับซ้อนกว่านั้นมาก ก็เหมือนคนๆหนึ่งที่มีไม่ได้มีเพียงด้านเดียว เป็นชุมชนที่กว้างมากกกกกก และมีคนหลายรูปแบบมากกกกกก ซึ่งคนกลุ่มนั้นไม่ว่าเขาจะมีเป้าประสงค์ใดๆ สิ่งหนึ่งที่ทุกคนเป็นเหมือนกันคือ “เหงา”
ช่วงเดือนสองเดือนที่ผ่านมาผู้เขียนเข้าสู่การใช้แพลตฟอร์มหาคู่นี้ ส่วนหนึ่งเพราะว่าพึ่งย้ายมาอยู่ต่างอำเภอและไม่มีเพื่อนเลยสักคนอย่างจริงจัง ทินเดอร์เป็นชื่อแรกที่ผู้เขียนคิดขึ้นมา เพราะมันง่ายเหลือเกินที่จะพบคนมากหน้าหลายตา และเราก็เจอเพื่อนจริงๆ
- Tinder จุดนำไปสู่ความสัมพันธ์ฉาบฉวยหรือพื้นที่หนึ่งในการทำความรู้จักคน(โสด)ใหม่ๆ
อย่างที่เล่าไปข้างต้นคนเล่นทินเดอร์คือคนเหงา และเรามักจะคัดเลือกคนที่มีไลฟ์สไตล์ การแต่งกาย หรือแคปชั่นที่น่าคุยด้วย เราจะปัดขวาแน่ๆถ้าคนนั้นเห็นหน้าชัด แต่งตัวไทป์เราและมีแคปชั่นที่เป็นภาษาสไตล์เราหรือถ้าจะลงลึกไปอีกก็คงดูแท็กว่าสนใจในเรื่องอะไรและเพลงโปรดคืออะไร แต่ข้อมูลพวกนี้ใครๆก็สร้างขึ้นมาได้ บางคนอาจจะแค่เปลี่ยนมุมเพื่อ fishing (หลอกล่อ)ให้คนอื่นมาติดกับ เช็คเรตติ้งไม่ได้ตั้งใจจะมาหาแฟนหรือเพื่อนจริงๆ
“เราชอบสไตล์การแต่งตัวของเธอในรูปโปรไฟล์”
“เราชอบเพลงที่เธอเลือก”
“แคปชั่นเธอ”
“คำนิยามเพศของเธอไง”
นี่คือคำตอบที่ผู้เขียนได้รับเมื่อถามคำถามว่า “ทำไมเรามาแมตซ์กันละคะ?” ตอนได้รับคำตอบผู้เขียนก็รู้สึกวาบหวิวอยู่นิดหน่อย รู้สึกว่าตัวเองเหล่ท่อ(หล่อเท่)จัง แค่การเป็นตัวเองแค่นี้ก็ทำคนให้ใช้กล้ามเนื้อตั้งหลายมัดปัดขวามาได้
คนในทินเดอร์หลายคนคุยเก่ง หลายคนคุยไม่เก่งและด้วยการที่ทินเดอร์เป็นการสื่อสารผ่านแชทเพียงอย่างเดียว บางครั้งก็ทำให้คนที่เรารู้สึกว่าคุยกันถูกคอจริงๆเลย กลายเป็นแค่เพื่อนในทินเดอร์เพราะอีกคนอาจจะไม่สะดวกใจที่จะแลกเปลี่ยน ID เพื่อไปพัฒนาความสัมพันธ์ในแอปพลิเคชั่นอื่น
หรือบางคนในทินเดอร์ดูเป็นแบบหนึ่งแต่พอได้ไปติดตามเขาในแพลตฟอร์มอื่นเขากลับเป็นคนอีกแบบหนึ่ง ซึ่งก็นำมาสู่ลูป
“ดูดีจังเลย”
“<3”
3 years later without response…
มันมีศัพย์ที่เรียกว่าคามุย (カムイ) — แปลได้ทำนองว่า หายไปในอีกมิติหนึ่ง ไม่คุยกันอีก กับ Ghost ที่เป็นสแลงว่าหายไป กลายเป็นผีเคยมีอยู่แต่ไม่มีอีกแล้ว
นี่แหละมั้งคะ ความสัมพันธ์ที่ฉาบฉวยของทินเดอร์ที่เราพบกัน เราสัมผัสกันนิดหน่อยแบบผิวเผินแล้วก็หลงลืมกันไป เขาอาจจะเป็นสักคนหนึ่งใน Followers หรือ Friends เราอาจจะหลงจำเรื่องของเขาสลับกับคนอื่น แต่เราจะไม่กลับไปคุยกับเขาอีก เราจึงได้เพื่อน ได้พี่ ได้น้องในทินเดอร์เยอะเหลือเกิน
แต่ว่าไม่ได้นะ บางคนก็มีความสัมพันธ์ที่ยาวนานจากทินเดอร์จริงๆ แต่ในช่วงอายุเท่านี้(22 ปี) ผู้เขียนยังไม่เห็น และแม้จะเป็นคนที่ผู้เขียนคุยเล่นด้วยในทินเดอร์ เขาก็มักจะเป็นคนอกหักและมาลงทินเดอร์กันทั้งนั้น เมื่อเขามีคนที่คุยด้วยแล้วถูกใจไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง เขาก็จะคามุย ไม่ก็ Ghost จากชีวิตกันและกันไป
- เขาปรับตัวให้คนเจอกันออนไลน์ยังไง
Independent ได้จัดอันดับเอาไว้ว่า ทินเดอร์เป็นหนึ่งในแอปพลิเคชั่นที่ถูกแนะนำว่าเป็น Best dating apps 2021: The popular sites you’ll actually want to use
เขาเขียนบรรยายถึงทินเดอร์ไว้ว่า
“Tinder
เหมาะกับใคร เหมาะกับคนรักเพศตรงข้ามและคนรักเพศเดียวกัน
หนึ่งในแอปพลิเคชั่นดั้งเดิมที่ง่ายสำหรับคนที่ใหม่สำหรับแอปพลิเคชั่นหาคู่ – แค่ลงชื่อเข้าใช้ ตั้งค่าบัญชี กำหนดช่วงอายุและเลือกช่วงระยะทาง(แม้จะล็อกดาวน์อยู่ก็ได้) จากนั้นก็เริ่มปัด. เมื่อสองคนปัดถูกใจ(ปัดขวา) คนใดคนหนึ่งอาจจะต้องเป็นผู้เริ่มต้นบทสนทนา ในตอนนี้ทินเดอร์ยังได้เพิ่มฟีเจอร์ Video Chat ลงไปด้วย”
ในทัศนะของผู้เขียนทินเดอร์เป็นแอปพลิเคชั่นหนึ่งที่แทบไม่ต้องปรับตัวเองเลยในช่วงโควิด เพราะเป็นแอปที่เราไม่จำเป็นต้องไปพบเจอกันจริงๆอยู่แล้ว เพียงแค่เพิ่มฟีเจอร์วีดิโอแชทก็เพียงพอแล้วสำหรับการทำให้คนรู้สึกว่าใกล้ชิดกันมากขึ้น แต่ปัญหาของทินเดอร์เลยก็คือคนส่วนใหญ่มักเข้ามาเพื่อปัด ถ้าเขาอยากคุยกันจริงๆจังๆ เขาก็จะแลก ID ของแอปพลิเคชั่นอื่นมากกว่าที่จะคุยกับทินเดอร์อย่างเด็ดเดี่ยวจนกว่าจะได้พบกัน
ทำยังไงให้ถูกปัดขวาแล้วเจอคนที่ถูกใจ
- เป็นตัวเรา :
โปรไฟล์คือประตูสู่การสนทนา เราสามารถที่จะแสดงตัวตนของเราได้ผ่านรูปโปรไฟล์ ไม่ว่าจะเป็นการถ่ายรูปกับต้นไม้หรืองานศิลปะ
- เป็นมิตร :
อะไรที่เป็นเราแต่ว่าไม่น่ารักเราก็ซ่อนไว้ก่อน ควรโชว์ส่วนที่มันน่าคบหาก่อน ไม่ว่าจะเป็นการยิ้มหรือเขียนแคปชั่นน่ารักๆ
- เป็นจริง
ถ้าเราเอาอะไรที่เป็นจริงมา เราก็จะดึงดูดคนที่เหมือนเรา เช่น การสร้างโปรไฟล์ว่าชอบฟังเพลงแจ๊ส เราก็จะดึงดูดคนที่ฟังเพลงแจ๊สเข้ามา แต่ถ้าความเป็นจริงเราไม่ได้ชอบ เราก็จะเสียเวลาเจอกับคนที่ชอบเพลงแจ๊สแต่ทักเข้ามาหาคุณ
เพราะอะไรเหล่านี้ละมั่ง ทำให้ทินเดอร์จึงเป็นทั้งพื้นที่สำหรับคนเหงาทุกคนที่มีทั้งคนมาหาความสัมพันธ์แบบฉาบฉวย และการได้ทำความรู้จักคนใหม่ๆเพื่อแก้เหงา การเล่นทินเดอร์นอกจากจะต้องใช้หน้าตาแล้ว บางครั้งก็ยังต้องใช้ภาษาและทัศนคติ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ต่างกับการพบเจอคนจริงๆ แต่ง่ายกว่าตรงที่เราไม่ได้พบตัวกันจริงๆ ทำให้ความรู้สึกเป็นพิษเป็นภัยมันไม่ค่อยแสดงออกมา
ถ้าจะให้ผู้เขียนตอบคำถามว่า Tinder คืออะไรกันแน่ระหว่างพื้นที่คนเหงาเพื่อความสัมพันธ์ฉาบฉวยหรือโอกาสทำความรู้จักคน(โสด)ใหม่ๆ ผู้เขียนขอเลือกตอบว่ามันคือทั้งสองอย่างขึ้นอยู่กับ Moods ของ User ล้วนๆเลยค่ะ
** บริการของทินเดอร์จำกัดเฉพาะผู้ใช้ที่อายุ 18 ปีหรือมากกว่า และไม่อนุญาตผู้ใช้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีบนแพลตฟอร์ม
อ้างอิง