จากอัฟกานิสถานถึงไนจีเรีย เคนย่าถึงเบลีซ อินเดีย อินโดนีเซีย รวมทั้งสยามประเทศ เงินมากมายมหาศาลถูกภาครัฐที่ดูแลการเลือกตั้งนำไปใช้สำหรับเทคโนโลยีเพื่อให้ระบบการเลือกตั้งนั้นดีขึ้นกว่าเดิม
หนึ่งในเหตุผลที่หลายๆฝ่ายชอบยกมาสนับสนุนในเรื่องนี้ก็เพื่อการควบคุมและดูแล “ความเชื่อใจ” ที่ประชาชนมีต่อการเลือกตั้งในประเทศเหล่านั้น แต่สิ่งที่รัฐบาลมองข้ามหรือลืมใส่ใจก็คือว่าถ้าพวกเขาจัดระบบให้ดี มีการวางกฎที่มั่นคงแน่นอน มีฝ่ายที่ควบคุมรับผิดชอบอย่างจริงจังและตรวจสอบได้โปร่งใส มันจึงจะเกิด “ความน่าเชื่อถือ” และ “ความเคารพ” ในกลุ่มประชาชนจริงๆ ไม่ใช่การใช้เทคโนโลยีที่เหมือนเล่นมายากลจากโลกอนาคต
แต่ก็เหมือนกับทุกภาคส่วนของการปกครองในปัจจุบัน, เทคโนโลยีมักถูกตั้งไว้บนหิ้งว่ามันจะเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาต่างๆมากมายในการดูแลการเลือกตั้งในตอนนี้และอนาคต
บริษัทเอกชนหลายต่อหลายแห่งสามารถกอบโกยจากสัญญาที่ทางหน่วยงานของรัฐบาลสร้างขึ้น อย่างผู้ผลิตเครื่องตวจแสกนลายนิ้วมือ เครื่องโหวตลงคะแนน และการเก็บข้อมูลบน blockchain ยกตัวอย่างง่ายๆบริษัทที่ดูแลระบบเรื่องการตรวจสอบตัวตนในการเลือกตั้งที่เคนย่าปี 2017 นั้นเรียกค่าบริการประมาณ 18.5 ล้านเหรียญ (ประมาณ 600 ล้านบาท) เลยทีเดียว
บ่อยครั้งที่เหตุผลว่าการนำเทคโนโลยีใหม่ๆเหล่านี้เข้ามาใช้ก็เพราะมันเป็นสิ่งที่ประชาชน (ที่ไม่เชื่อในองค์กรรัฐบาล) ต้องการ ล่าสุดในอัฟกานิสถานที่ Independent Electoral Commission (องค์กรที่ดูแลเรื่องการเลือกตั้ง) ได้นำระบบการโหวตด้วยไบโอแมทริกซ์ (biometrics คือ วิธีการใช้ข้อมูลทางชีวภาพ) มาเริ่มใช้งาน 17 วันก่อนการเลือกตั้งในเดือนตุลาคม เพื่อเอาใจผู้ที่เป็นแคนดิเดททั้งหลาย, 17 วัน เป็นระยะเวลาที่สั้นเกินไปในการที่จะฝึกเจ้าหน้าที่เพื่อใช้งานเทคโนโลยีชิ้นนี้ มีความผิดพลาดมากมายเกิดขั้นในวันที่ใช้งานจริงจนสามารถเรียกได้ว่าล้มเหลวอย่างไม่สวยงามเท่าไหร่
หรืออย่างการใช้ไบโอแมทริกซ์ในการโหวตที่ประเทศซิมบับเว (รับเงินสนับสนุนจากโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ – UNDP ) ที่มุ่งเป้าเหมายเพื่อตัดปัญหาเรื่องการคดโกงและทำให้การนับผลคะแนนเพื่อนำมาสรุปหาผู้ชนะนั้นรวดเร็วขึ้น แต่องค์กรที่ดูแลการเลือกตั้งก็เลื่อนการประกาศผลไปหลายวัน ซึ่งที่น่าเสียใจก็คือระหว่างนั้นมีผู้เสียชีวิตถึงสามคนจากการปะทะกันของกลุ่มผู้ประท้วงและเจ้าหน้าที่
ในประเทศส่วนที่กำลังพัฒนาอื่นๆอย่างไนจีเรีย อินเดีย หรือ เซียร์ราลีโอน ต่างอวดอ้างว่าเทคโนโลยีนั้นทำให้การคดโกงในการเลือกตั้งลดลงและช่วยให้คนออกมาใช้สิทธิ์ของตนเองมากขึ้น แต่คนที่ไม่เห็นด้วยก็บอกเช่นกันว่ามันมีค่าใช้จ่ายที่มากเกินพอดีและในหลายครั้งอาจจะไปตัดสิทธิ์คนโหวตที่เกรงกลัวหรือใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ไม่เป็น
เพราะฉะนั้นประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญก็คือ : เทคโนโลยีต้องไม่ใช่สิ่งที่สำคัญที่สุด
สิ่งที่ไม่ได้กล่าวถึงในการโต้เถียงเหล่านี้ก็คือว่า “เทคโนโลยี (ด้วยตัวมันเอง) ไม่ได้สร้างความน่าเชื่อถือ” อะไรเลย องค์กรรัฐบาลที่ดูแลการเลือกตั้งต่างหากที่ต้องหาวิธีการใดก็ตามที่จะทำให้การเลือกตั้งนั้นศักดิ์สิทธิ์ สามารถทำให้คนเคารพและเชื่อในผลลัพธ์ ไม่ว่าจะมีหรือไม่มีเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามามีส่วนร่วมด้วยก็ตาม
“ความเชื่อ” โดยพื้นฐานในระบบการเลือกตั้งนั้นจะเพิ่มขึ้นจากความยึดมั่นที่จะใช้ความโปร่งใสในการทำงาน ไม่มีการหมกเม็ด ใช้สูตรลับคำนวณตัวเลข หรือลืมพกเครื่องคิดเลขมาด้วยนั้นเป็นสิ่งที่ทำให้ความเชื่อใจนั้นขาดสะบั้น องค์กรที่ดูแลการเลือกตั้งนั้นต้องมีความซื่อสัตย์และสามารถที่จะตรวจสอบการทำงานได้ทุกขั้นตอน กฎหมายต้องครอบคลุมการทำงานและหลักปฎิบัติต่างๆต้องได้รับการสนับสนุนจากนโยบายข้อบังคับภายใน พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือองค์กรเหล่านี้ต้องเป็นกลาง โปร่งใส ซื่อสัตย์ ตรวจสอบได้ในทุกๆเรื่องๆ
ขั้นตอนหลายอย่างที่ไม่ได้ซับซ้อนก็สามารถช่วยสร้างความน่าเชื่อถือได้เช่นกัน อย่างการโชว์กล่องที่ไม่มีใบโหวตให้กับผู้มาโหวตคนแรกและการซีลปิดล็อคกล่องลงคะแนนหลังจากคนโหวตคนสุดท้ายก็ทำให้มั่นใจมากขึ้น หรือแม้แต่การใช้ระบบนับคะแนนแบบเปิดเพื่อให้ประชาชนแน่ใจว่าไม่มีการโกงเกิดขึ้นอย่างแน่นอน
เทคโนโลยีไม่ว่าจะล้ำหน้าแค่ไหนก็ไม่สามารถจะแก้ไขปัญหาความเชื่อใจได้ “ถ้า” ประชาชนไม่รู้เลยว่าหลังจากโหวตไปแล้วเกิดอะไรขึ้นบ้าง ขั้นตอนจะเป็นยังไง และระบบการทำงานของการเลือกตั้งเป็นแบบไหน
อีกอย่างหนึ่งที่จะต้องมีการปรับปรุงและพัฒนาไปในอนาคตก็คือการเข้าถึงโอกาสที่จะลงคะแนนเสียงในพื้นที่ห่างไกล การมีแหลงลงคะแนนที่ใกล้บ้าน การเดินทางไม่ลำบากมาก มีการแนะนำและให้ความรู้จากเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นเป็นระยะเวลาที่นานเพียงพอ มีการสนับสนุนให้ทุกคนออกมาใช้สิทธิ์ของตัวเองแม้จะอย่างห่างไกลแค่ไหนก็ตามที
ในตอนนี้องค์กรที่ดูแลการเลือกตั้งนั้นกำลังติดอยู่ในจุดลำบากใจระหว่างประชาชนกับรัฐบาล ในหลายๆที่องค์กรเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของภาครัฐและยังได้รับเงินสนับสนุนเพื่อการทำงานให้ลุล่วงหน้าที่ที่วางเอาไว้ เพราะฉะนั้นความเป็นอิสระในการทำงาน “จริงๆ” นั้นย่อมเป็นข้อกังขาสำหรับประชาชนอยู่เสมอ
แต่นี่ก็เป็นปัญหาที่สามารถแก้ได้ถ้ามีวางกฎที่ชัดเจน มีการเลือกคนที่เป็นผู้นำองค์กรที่น่าเชื่อถือ มีชื่อเสียงในด้านดี ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายอย่างออกหน้าออกตาชัดเจน และได้รับการปกป้องคุ้มครองทางกฎหมายให้ทำงานได้อย่างเต็มที่โดยไม่ต้องคำนึงว่าจะถูกชักใยอยู่เบื้องหลัง
ก่อนที่องค์กรที่ดูแลการเลือกตั้งหรือผู้สนับสนุนจากส่วนต่างๆจะมองหาเทคโนโลยีที่จะมาช่วยแก้ไขปัญหาการเลือกตั้ง พวกเขาต้องมานั่งล้อมวงกันแล้วเขียนเหตุผลขึ้นมาว่าทำไมผู้มาใช้สิทธิ์ถึงรู้สึกสงสัย กังขา ไม่ไว้วางใจในระบบที่มีอยู่ในตอนนี้
เทคโนโลยีสามารถ “เพิ่ม” ความน่าเชื่อถือในการเลือกตั้งได้ แต่ด้วยตัวมันเองไม่สามารถ “สร้าง” อะไรขึ้นมาได้ถ้าผู้ใช้งานไม่ได้มีศรัทธาในผู้ดูแลการเลือกตั้งอยู่แล้วตั้งแต่แรก เมื่อไหร่ก็ตามที่ประเด็นเรื่องความน่าเชื่อถือได้รับการดูแลอย่างจริงจัง ตอนนั้นแหละที่เทคโนโลยีจะช่วยให้ระบบการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งมีประสิทธิภาพอย่างสูงสุด