“แกแม่งเป็นเสือชีต้าร์เลยนะ” – UNTAMED (Review) : Glennon Doyle
“ชีวิตนี้เป็นของฉันแต่เพียงผู้เดียว ฉันจึงเลิกถามหาหนทางชีวิตจากคนอื่น เพราะพวกเขาไม่เคยมาที่นี่”
คือประโยคหลังปกหนังสือเรื่อง “UNTAMED อย่ายอม” โดย เกลนน็อน ดอยล์ (Glennon Doyle) หนังสือเล่มนี้เป็น #1 NewYorkTimes Bestseller แต่ว่าอะไรที่ทำให้หนังสือเล่มนี้ขายไปแล้วมากกว่าหนึ่งล้านเล่ม เพราะเกลนน็อนเป็นเซเลปบิตี้? เพราะเธอเคยออกรายการทีวีชื่อดัง? ไม่ใช่ทั้งนั้น นั่นเป็นเพราะการเขียนที่ “ฉึบฉับ” ตรงประเด็นและ “กรีดด้วยความจริง” ใครที่กำลังสับสนหนังสือเล่มนี้อาจเป็นเล่มหนึ่งที่ช่วยเขย่าให้คุณตื่นขึ้นมา
เกลนน็อน ดอยล์ คือใคร
เกลนน็อน ดอยล์คือนักเขียนคนหนึ่งที่ประสบความสำเร็จกับหนังสือที่ชื่อ Love Warrior, Carry On และ Untamed ซึ่งเป็นหนังสือที่ขายดีอันดับหนึ่งโดยการจัดอันดับของเดอะนิวยอร์กไทมส์ แน่นอนว่าคุณเกลนน็อน เป็นคนอเมริกัน เป็นนักเขียนและก็นักกิจกรรม (Activist) ด้านผู้หญิงและเด็ก เธอเป็นคนหนึ่งที่ทำให้สังคมเหลียวมองได้จากเรื่องราวและงานเขียนหนังสือของเธอ เธอเคยออกรายการ Talk Show ชื่อดังของ Oprah Winfrey กับ The Ellen Show
ในรายการของ Oprah เราจะเห็นเกลนน็อน ดอยล์คือนักเขียนสาวคนหนึ่งที่บอกว่าความรักคือสิ่งที่เข้ามาเพื่อเปลี่ยนชีวิต และในที่สุดมันอาจจะมีความเจ็บปวด เหมือนกับดอกไม้ที่ถูกฤดูหนาวพรากไป กลับลงไปสู่พื้นดิน เพื่อรับดินรับแร่ธาตุใหม่ก่อนที่จะผลิบานขึ้นมาอีกครั้ง
ในตอนนั้นเธอดูคลั่งรักในชีวิตการแต่งงาน และยอมรับที่จะรัก แม้มันจะเจ็บปวด เพื่อที่สุดท้ายแล้วเธอก็จะมีความสุข คล้ายกับการกอบโกยเศษซากเพื่อประกอบใหม่ให้สวยงามกว่าเก่า
หลังจากนั้นชีวิตของเธอเปลี่ยนไป หลังจากที่ได้เจอกับ Abby Wambach จุดพลิกผันของชีวิตหลังจากพยายามอย่างหนักในการยอมรับและชื่นชมยินดีกับสิ่งที่เรามีตามกรอบที่เราติด การตกหลุมรักครั้งใหม่ทำให้เธอต้องตั้งคำถามและคิดอีกครั้งเกี่ยวกับชีวิตของเธอ ซึ่งในหนังสือเรื่อง Untamed ผู้เขียนรู้สึกว่าเกล็นนอนกำลังพยายามจะบอกเราว่า “การยอมรับความจริงในตัวเอง” มันเปลี่ยนแปลงชีวิตเธอไปอย่างไร และเธอได้บอกใน Ellen Show ว่าหนังสือเล่มนี้กำลังจะถูกนำไปทำเป็น TV Show อีกด้วย
ถ้าเล่าอย่างนี้เกลนน็อน ดอยล์ก็คือนักเขียนอเมริกันคนหนึ่งที่เปลี่ยนแปลงไป เธอเติบโตขึ้นและเขียนหนังสือที่เกี่ยวกับชีวิตของเธอ จากคนที่เชื่อในรัก ไปสู่คนที่เชื่อในการเป็นตัวเอง การรักตัวเองที่มาจากจิตวิญญาณ แล้วหนังสือ Untamed คืออะไรกันแน่??
แต่ที่แน่ๆหนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่เขียนถึงชีวิตที่ใครๆก็พบเจอได้ การรัก การเลิกรัก ความสงสัยในตัวตน การค้นพบตัวตน การทุบทำลายมันอีกครั้ง การที่ส่วนที่ดำมืดที่สุดในจิตใจกลายเป็นสิ่งที่กลายเป็นเรา แล้วเราจะรับมือกับมันยังไง สำหรับเกล็นนอนแล้วอะไรคือสิ่งที่ทำให้เธอข้ามผ่านมันมา เธอคิดยังไงเธอถึงกล้าที่จะเปลี่ยนและออกจาก Comfort Zone ที่เหมือนเป็นกรอบของตัวเอง
หนังสือเล่มนี้คืออะไร
หนังสือเล่มนี้อยู่ในหมวดจิตวิทยาพัฒนาตัวเอง ถูกแปลเป็นภาษาไทยโดยคุณ K.D. ต้องชมก่อนเลยว่าการแปลของคุณ K.D. แปลภาษาได้สละสลวยและส่งต่อสิ่งที่เกลนน็อนพยายามจะสืบทอดออกมาในภาษาที่เราเข้าใจได้ง่ายๆ หนังสือเล่มนี้ทำให้คนอ่านตั้งคำถามกับ คำว่า ‘ดีอยู่แล้วในชีวิต’ ว่าไอ้คำว่าดีอยู่แล้ว ใครนิยามคำว่าดีให้เรา ก่อนจะบอกให้เรา “อย่ายอม” “อย่าเชื่อง” “อย่าหยุดตั้งคำถาม” เป็นตัวเองให้ดีที่สุด
ประโยคนี้ในบทนำของหนังสือเป็นเหมือนกับการชี้ให้เราเห็นประตูสู่การยอมรับความเป็นตัวเรา ในขณะที่บางครั้งเรายอมรับเรื่องบางเรื่องอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย ใครพูดอะไรมาเราก็ยอมรับมาปรับใช้กับตัวเอง แต่เราดันมองข้ามคำแนะนำที่มาจากในใจเรา หนังสือเล่มนี้ของเกลนน็อนจะพาเราไปถึงจุดที่เราต้องสดับฟังเสียงในตัวเองที่เรามองข้ามไป ในตอนที่เรากำลังพยายามจัดการกับปัญหา
หนังสือเล่มนี้จะทำให้เรารู้สึกว่า “นี่เรานะ นี่เรานะโว้ย ใครจะมารู้ดีกว่าเราวะ!?”
อ่านยากไหม รู้สึกยังไงเมื่อได้อ่าน?
หนังสือเล่มนี้หนาก็จริง แต่ไม่ได้อ่านยากเลย ด้วยความที่เป็นหนังสือที่มีสไตล์การเขียนแบบ “ฉึบฉับ” เข้าเรื่องมาด้วยการที่เกลนน็อนมองเห็นเสือชีต้าที่ทำเชื่องเหมือนกับหมาพันธุ์ลาบราดอร์ แต่เจ้าเสือตัวนั้นก็ยังคงสัญชาตญาณของเสือชีต้าร์ และการที่เราเป็นชีต้าร์แต่ทำเหมือนตัวเองเป็นสัตว์เชื่องๆ นั่นมันหยามกันชัดๆ มันปลุกความเป็นตัวตนและทำให้เราฉุกคิดขึ้นมาว่า เสือชีต้าร์ตัวนั้นถูกเลี้ยงเหมือนลาบราดอร์ แต่ยังคงมีความเป็นเสือ แล้วเราคนนี้ยังไงดี? เราถูกเลี้ยงมาให้อยู่ในกรอบของสังคม แล้วเรามีโอกาสได้รู้จักตัวตนของตัวเองแล้วหรือยัง?
มีบางคนบอกว่าหนังสือเล่มนี้เหมือนกับหลักของพุทธศาสนาที่พูดถึงความไม่แน่นอน ตนย่อมเป็นที่พึ่งแห่งตนและสมาธิ ในทัศนะของผู้เขียนแล้ว ผู้เขียนไม่ได้มองเห็นประเด็นเหล่านี้ชัดเท่าประเด็นเรื่องของการค้นพบความจริงเกี่ยวกับ การรักตัวเอง ความไม่แน่นอนของชีวิต และประเด็นทางสังคมใหญ่ๆสามประเด็น นั่นก็คือการพูดถึงการกล่อมเกลาทางสังคม ความหลากหลายทางเพศและบทบาทของแม่
การกล่อมเกลาทางสังคม — มาร์เก็ตติ้งชายหญิง ที่นอกจากจะขายความเป็นชายหญิงแล้ว ยังซื้อกรอบให้คุณอีกด้วย ในหนังสือจะมีการพูดถึงตอนหนึ่งที่เกลนน็อนได้เข้าไปในห้องน้ำ แล้วก็ไปอ่านสโลแกนที่สร้างความเป็นชายความเป็นหญิงผ่านขวดแชมพู โฆษณาแชมพูของลูกสาวที่บอกว่าต้องอ่อนโยน นุ่มนวล ในขณะที่ของลูกชายจะต้องห้าวหาญ เข้มแข็ง ฟาดเก้าอี้ จากการโฆษณาแบบนี้แสดงถึงมโนภาพของสังคมที่มีต่อเพศชายและเพศหญิง โดยการขายความเป็นชาย ความเป็นหญิงว่าควรจะมีภาพลักษณ์ยังไง ควรจะคิดยังไง ในขณะเดียวกันก็เป็นการแสดงค่านิยมที่ลดทอนอำนาจในการตัดสินใจของทั้งชายและหญิงในการแสดงออก ทั้งยังเป็นการเหมารวมว่าความเข้มแข็งต้องเป็นชาย และความอ่อนแอต้องเป็นผู้หญิง เรื่องนี้เกิดขึ้นจริงและเกิดขึ้นมาหลายศตวรรษไม่สิ้นสุด
เพศสภาพ, เพศวิถี — ความตื่นตูมของสังคมที่มองคนอยู่นอกกรอบว่าประหลาด แม้ว่านี่จะเกิดขึ้นในศตวรรษที่ 20 เกิดในชีวิตของคนที่เป็นที่รู้จัก เป็นที่นับหน้าถือตาในเรื่องของการเป็นผู้นำทางความคิด การที่เขาหรือเธอออกมาเผยแพร่เรื่องของเพศที่ไม่ตรงกรอบก็จะต้องถูกคุกคามจากกลุ่มคนที่ต่อต้าน ทั้งๆที่เป็นเรื่องส่วนตัวและไม่จำเป็นที่จะต้องประกาศให้ใครรู้
บทบาทของแม่ — เรามักจะคิดว่าการเป็นแม่คือการทำทุกอย่างให้ลูก แต่ความเป็นจริงที่เกลนน็อนพบก็คือลูกไม่จำเป็นต้องให้แม่อยู่ในชีวิตเพื่อสนับสนุนเขาหรือเธอเสมอเพราะนั่นไม่ใช่สิ่งที่เขาต้องการ แต่เป็นการที่ต้องการให้แม่ “ได้” สนับสนุนเสียมากกว่า ดั่งประโยคนี้ของเกลนน็อนที่ว่า “ลูกไม่มองฉันเป็นฮีโร่ แต่มองเป็นแบบอย่าง เธอไม่ได้ต้องการให้ฉันช่วย แต่ต้องการให้ฉันได้ช่วยต่างหาก”
ต่อมาหนังสือเล่มนี้ก็มีประโยคที่ปลุกใจเราอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น
“หัวใจที่สลายส่งมอบจุดมุ่งหมายในชีวิตให้คุณ”
“ถึงจะทำทุกอย่างไม่ได้ แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่จะมาขัดขวางไม่ให้ฉันทำเท่าที่จะทำได้”
“ดูแลตัวตนของคุณให้ดี จงสู้นรกแตกไปเลยเพื่อรักษาตัวเเองไว้และเมื่อคุณทำเธอหายไป จงทำทุกสิ่งที่ต้องทำเพื่อกลับมาหาเธอให้ได้”
หนังสือเล่มนี้จะเป็นหนังสือที่ดีในวันที่เรารู้สึกเคว้ง ไม่มั่นคงทางใจและเหงา หนังสือเล่มนี้จะเป็นเพื่อนที่ดี ที่จะมาตบบ่าแล้วบอกอะไรกับเรามากกว่า การสั่งสอนให้เรายอมรับโชคชะตาซะ เล่มนี้จะบอกให้เราสู้ และเราจะพบสิ่งที่ดีกว่าในตัวเรา เมื่อเราได้ค้นพบความสุขในตัวเราอย่างแท้จริง
โดยสรุปจากบทความนี้ในช่วงท้ายมีประโยคหนึ่งของเกลนน็อนที่เขียนถึงความรู้สึกของเธอที่มี เมื่อมนตราแห่งความหลงใหลเสื่อมลงระหว่างเธอและแอ๊บบี้
นี่แหละความคลาสสิคของความเป็นมนุษย์…. ไม่มีอะไรแน่นอน แม้แต่สิ่งที่เราเรียกว่า “ตัวเอง”
เพราะฉะนั้นถ้าถามว่าจะได้อะไรจากการอ่านหนังสือ UNTAMED คำตอบก็คือ “ความรู้สึกว่าเราจะไม่ยอมเป็นใครที่ไม่ใช่ตัวเราเอง แม้ว่าตัวเราเองจะเป็นอะไรที่เราก็คาดไม่ถึง”