โยเกิร์ต Homemade เริ่มต้นในห้องครัวจนขยายไปทั่วประเทศ – คุณผัก พรธิดา ตั้งใจดี Veggie’s Dairy
เมื่อกล่าวถึงโยเกิร์ต สิ่งที่เรามักคิดถึงคือโยเกิร์ตถ้วยสิบกว่าบาทที่วางอยู่บนชั้นในร้านสะดวกซื้อ รสชาติหวาน ๆ เปรี้ยว ๆ ถูกปากเด็กตัวน้อยทานเหมือนกับเป็นขนมมากกว่าที่จะเป็นมื้อของว่างหรือมื้ออาหารเลย แต่ที่จริงแล้วโยเกิร์ตในหลาย ๆ ประเทศถือเป็นส่วนประกอบของอาหารหลักและทานกันจริงจังในมื้ออาหารเลยทีเดียว
เมื่อวันก่อนมีน้องในออฟฟิศหยิบโยเกิร์ตถ้วยหนึ่งออกมาจากตู้เย็น ด้วยความสงสัยว่ามันมาจากไหนเพราะรสชาติที่กลมกล่อมทานแล้วเนื้อให้ความรู้สึกละมุนไม่เหมือนกับโยเกิร์ตทั่ว ๆ ไป สิ่งที่พบกลับทำให้ตกใจเพราะว่าโยเกิร์ตถ้วยนั้นถูกผลิตในเชียงใหม่นี้เอง เป็นฝีมือของคนเชียงใหม่ที่จบมาจากรั้วมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ด้วย เลยอดไม่ได้ที่จะติดต่อไปขอสัมภาษณ์ อยากรู้แนวคิดของเขาว่าทำไมถึงเริ่มทำตรงนี้ได้ ทำไมต้องเป็นโยเกิร์ต ทั้ง ๆ ที่บ้านเราไม่ได้ทานเยอะขนาดนั้น แถมตอนนี้ยังไปวางขายตามซุปเปอร์มาเก็ตใหญ่ ๆ อย่างริมปิงหรือง Tops Supermarket แล้วด้วย
คุณผัก – พรธิดา ตั้งใจดี เป็นเจ้าของและผู้ก่อตั้ง Veggie’s Dairy โยเกิร์ต Homemade ที่ผลิตจากนมโคแท้ 100% ไม่ใช้วัตถุกันเสีย ตัวคุณผักเติบโตและจบการศึกษาจากสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหารที่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เลยพูดได้ว่า Veggie’s Dairy เป็นโยเกิร์ตสัญชาติเชียงใหม่แท้ๆ เลยทีเดียว
แม้ว่าตอนแรกจะไม่ได้สนใจในการทำตัวโยเกิร์ตนี้เท่าไหร่ เพราะหลังจากเรียนจบก็ไปทำงานประจำที่ในบริษัทก่อน
“ตอนนั้นไปทำงานก็ไฟแรงมาก ๆ ค่ะ เราก็ไปทำงานด้านวิจัยและพัฒนาซึ่งมันก็ตรงสายที่เราเรียนอยู่ เป็นบริษัทเล็ก ๆ มีพนักงาน 5-6 คน และด้วยความที่บริษัทเล็ก เราก็เลยได้ทำทุกอย่าง มันสนุกดี”
หลังจากนั้นพอทำได้ประมาณปีหนึ่งก็รู้สึกว่าอยากจะลาออก เพราะงานที่ทำนั้นเริ่มไม่ตอบโจทย์ พนักงานเยอะขึ้นและโตเร็วมาก เลยรู้สึกว่าอาจจะไม่ใช่ทาง ช่วงนั้นก็เลยเริ่มลองหาอะไรทำด้วย ระหว่างที่รอลาออกหลังจากยื่นจดหมายหนึ่งเดือน
อย่างที่บอกตั้งแต่ต้นว่าโยเกิร์ตเป็นสิ่งที่ไม่ได้อยู่ในชีวิตประจำวันของคนไทย คนไทยเราไม่ได้นิยมกินโยเกิร์ต แต่เหตุผลที่ทำให้คุณผักสนใจก็คือ “พี่ชายที่เรียนด้วยกันเคยทำขายเล่น ๆ” คุณผักเล่าย้อนไปในวัยมัธยมว่าเคยทานแล้วอร่อยมาก
“ตอนเด็กๆเราก็ชอบทานโยเกิร์ตอยู่แล้ว ก็ได้กินโยเกิร์ตจากพี่ชายคนนี้ แต่พอเขาเรียนใกล้จะจบ เขาก็เลิกทำขาย — พอมาถึงจุดที่เราจะลาออกและไม่รู้จะทำอะไรดี ก็เลยไปคุยกับพี่เขาแล้วถามว่าเราจะกลับมาทำได้ไหม”
ส่วนตัวพี่ชายของคุณผักเขาก็เลือกไปเรียนต่อ และไม่ได้ทำคุณผักก็เลยเอาสูตรที่พี่ชายทำมาปรับและทำโยเกิร์ตในแบบที่ตัวเองอยากลองทำ
ในช่วงแรกที่ทำไม่ได้คิดอะไรเลย แค่อยากลองขายดูก่อนอย่างเดียวเลย
“ถ้าจะออกจากงานแล้วเราก็กลัวว่าจะไม่มีอะไรทำ เรากลัวว่าจะไม่มีเงินมากกว่า และเราก็ยังไม่ได้หางานใหม่ด้วย ประกอบกับนิสัยส่วนตัวที่เป็นคนอยู่เฉยๆไม่ได้ เราก็เลยมาทำอันนี้”
การทำโยเกิร์ตคุณผักอธิบายว่ามันไม่ได้ยุ่งยากอะไรนัก แต่สิ่งที่ยากก็คือข้อจำกัดและเป็นผลิตภัณฑ์ที่อ่อนไหวง่าย ทั้งการเก็บรักษาและอายุของมัน
ตอนปี 2014 เริ่มต้นด้วยการไปฝากขายตามร้านที่รู้จักก่อนเพราะอยากจะได้ฟีคแบคจากลูกค้าจริง ๆ
“เราเริ่มจากการไปฝากขายที่ร้านกาแฟที่มีตู้เย็น คิดอย่างเดียวเลยว่า มันต้องเย็น ในเวลานั้นมันก็เป็นข้อจำกัดที่ค่อนข้างใหญ่ ในยุคนั้นเขาก็จะเน้นขายเบเกอร์รี่กันเยอะ และในตอนนั้นเราก็ไม่กล้าขายให้คนรู้จัก เพราะเรากลัวว่าเขาจะซื้อแค่เพราะว่าเขาอยากช่วยซื้อ”
ร้านแรกที่คุณผักเอาไปฝากวางขายเป็นร้านที่ลำพูน เป็นทางผ่านที่คุณผักไปแวะกินกาแฟเวลาไปทำงาน ตอนนั้นคุณผักรู้จักกับเจ้าของร้านกาแฟ ก็เลยได้ฝากร้านนั้นและร้านเครือข่าย
“ลงทุนครั้งแรกประมาณ 400 บาทและก็ได้มาประมาณ 80 กระปุก ก็เอาไปฝากขายแล้วก็แจกจ่ายให้เขาได้ลองชิมกัน”
ตอนนั้นคุณผักก็เริ่มคิดชื่อแบรนด์ไว้แล้ว โดยชื่อ Veggie’s Dairy ก็เป็นชื่อของคุณผักเองเลย เสียงตอบรับในล็อตแรกก็ขายได้ แต่ว่าไม่ได้ใช้เวลารวดเร็วขนาดนั้น คุณผักก็ค่อยๆทำอย่างนั้นมาเรื่อยๆและสักพักก็เริ่มขายไม่ดี
“เพราะว่าคนที่เข้าร้านกาแฟไม่ได้กินโยเกิร์ตค่ะ ตอนนั้นเราก็ต้องหาวิธีขายแบบอื่น หลังจากนั้นเราก็ไปขายเอง ไปออกตลาด ออกบูทอะไรประมาณนั้น”
คุณผักเล่าว่าที่ที่ไปขายแล้วจำได้ดีเลยคือที่งานฟิน งานฟินเป็นงานสตรีทแฟร์ที่จะรวมพวกงานฝีมือหรือสินค้าแฮนเมด มาวางขาย
“ฟินช่วงต้นทุกคนคือปังมาก งานใหญ่และคนก็เยอะมาก เราก็ขายได้แต่ว่าไม่ได้ขายได้ดีมากขนาดนั้น และตอนนั้นเราก็เริ่มเปิดขายเองโดยการไปเช่าหน้าร้านที่หน้าโรงเรียนดนตรี เปิดเป็นหน้าร้านของตัวเองเล็กๆ ตอนนั้นก็เปิดขายน้ำปั้นและออกตามงานฟิน”
คุณผักก็ได้ลองทำทั้งเปิดหน้าร้าน ออกบูท ขายในเฟซบุ๊คและขายส่งตามบ้าน เพราะว่าในช่วงเริ่มต้นตอนนั้นเป็นช่วงที่โซเชียลมีเดียเฟซบุ๊คเป็นออนไลน์แพลตฟอร์มอันเดียว คุณผักเล่าว่าตอนนั้นก็ได้ทั้งขายและได้พัฒนาตัวเองไปด้วยในตัว
แต่กว่าธุรกิจจะเริ่มเป็นที่รู้จักในวงกว้าง คุณผักก็ลองผิดลองถูกมาเยอะมาก ๆ ซึ่งโอกาสก็มาจากการทำทุกอย่างที่ทำได้นี้แหละ
“คนมารู้จักเรา ได้จากตอนที่เราได้ไปเข้าศูนย์วิจัยพัฒนาอุตสาหกรรมปศุสัตว์ของเชียงใหม่ที่เรามาเจอกันโดยบังเอิญ ตอนแรกเขาก็จะชวนไปอบรม งานแปรรูปผลิตภัณฑ์นม ช่วงประมาณปี 2015-2016”
“ตอนนั้นผักสอนดนตรีด้วยและก็ทำโยเกิร์ตเลี้ยงชีพคนเดียว เรายังไม่มีลูกน้องหรือโรงงานอะไร”
คุณผักเล่าใบเบิกทางเลยคืองาน Lanna Expo อารมณ์เหมือนการจัดแสดงสินค้าที่ใหญ่ที่สุดของจังหวัด หนึ่งปีจะออกหนึ่งครั้ง จะมีทั้งของกิน ของใช้ จัดที่ศูนย์ประชุมนานาชาติที่เชียงใหม่ ตอนนั้นคุณผักเล่าว่าศูนย์วิจัยนั้นก็ชวนไปออกบูทที่นั่น
“มันเป็นจังหวะที่ว่าใครชวนไปไหน ไปหมด เพราะเราอยากให้แบรนด์ของเราเป็นที่รู้จักและก็อยากรู้ว่าทำแบบไหนจะขายได้ดี”
ตอนนั้นเราก็กำลังหาลูกค้าและตัวตนที่แท้จริงของตัวเอง และพอได้ไปออกงาน Lanna Expo และมีประสบการณ์จากการขายก็ทำให้คุณผักรู้ว่า โยเกิร์ตคือของที่ต้องกินที่บ้าน
“บางคนเขาอยากซื้อของเรามากเลย แบบว่าน้องคะ พี่อยากซื้อมากเลย แต่พี่ไม่ได้กลับบ้านเลย พี่กลัวมันจะเน่า อะไรประมาณนี้ เราก็ไปออกงานอย่างนั้นก็มีคนซื้อกลับไปเยอะ และก็งานวันนั้นก็จะมีพวกห้าง ร้านมาเดินด้วย”
“มีคนมาถามครั้งคือคนจัดซื้อของท็อปส์มาร์เก็ต เขาก็มาเดินที่งานแล้วเขาก็มาเจอโยเกิร์ตเรา ลองทานแล้วเขาก็ชอบ เขาก็ถามหาดีเทล ที่สำคัญคือ อย. โดยตอนที่ออกงานเราก็ไปออกแบบงง ๆ แต่พอมีห้างร้านมาถามก็เป็นจุดเปลี่ยนเลย”
“ปีแรกเราไปงาน เราก็ไม่ได้คิดอะไร แต่พอปีต่อมาเขาถามหาอีก เราก็คิดว่า อ่ะ… มันไม่ได้แล้ว เราจะทำ อย. ให้ถูกต้องดีกว่า”
มีท้ออยากล้มเลิกบ้างไหม? เพราะที่จริงนี่ก็เข้าปีที่สามแล้ว
“นิสัยส่วนตัวมั้งคะ ที่เป็นคนแบบว่ามีความดื้อและรั้น”
อย. มีคนพูดเล่น ๆ กันว่าเขาบอกว่ามาจาก “เอาเงินยัด” อันนี้จริงไหมครับ?
“อ่า… คนอื่นผักไม่รู้นะคะ แต่ว่าทางเราไม่มีเงินยัด (หัวเราะ) หลังจากนั้นก็ไปทำ อย. ผักใช้เวลา 9 เดือน เขาตรวจตัวสถานที่ ที่เป็นตัวห้องผลิตเราที่เป็นบ้าน ในห้องนั้นห้องเดียวที่เราใช้ทำแค่โยเกิร์ตอย่างเดียว แต่ตามหลักการต้องมีอย่างน้อยสอง เราก็ใช้ความรู้ที่เราเรียนมาแบ่งพื้นที่ว่าจะทำยังไงให้ได้จากพื้นที่ที่มี”
“โดยกระบวนการของ อย. แล้วเขาจะมาตรวจใบขออนุญาต จากนั้นก็มาติดตามทุกปี โดยที่สุ่มมา ก็ใช้เวลา 9 เดือนเราก็ผ่านและได้ อย. มา”
เข้าห้างยังไง?
“ในปีที่สองเราก็ได้ขอนามบัตรเขาไว้ จากที่ปีแรกเราไม่รู้เรื่องเลย ตอนนั้นเราก็ติดต่อเขากลับไป เขาก็จำเราได้ด้วย เขาก็บอกเราว่า โอเค เอาเข้ามาได้เลย แต่ขั้นตอนมันก็เยอะ (ลากยาวววว) เคร่งกว่า อย. ก็ห้างเหล่านี้แหละค่ะ ท็อปส์ติดต่อมาก่อนแต่เราได้ขายที่อื่นก่อนหลายที่เลยค่ะ”
“อย. คือใบเบิกทาง ด้วยความที่คนเราก็ไม่รู้จักกันแต่เขารู้จัก อย. มันเป็นเงื่อนไขแรกๆที่เขาจะเลือกดู”
“ห้างแรกที่ขายก็คือริมปิง ขั้นตอนการเข้าริมปิง ผักก็เป็นคนไปติดต่อเองหมดเลย ตอนนั้นก็มีแมตชิ่งแล้วก็มีห้างร้านเหล่านี้มา งานล้านนาเป็นที่ที่พาเราไปเจอ แล้วก็ไปเริ่มใหม่”
ออเดอร์มากขึ้นตามที่คาดหวังไหม?
“ตอนนั้นออเดอร์ก็มากขึ้น แต่เราก็ยังไม่คิดว่ามันใหญ่ ถ้าไม่รวมผักก็มีคนแค่ 3 คน — ผักทำหน้าที่เป็นคนดูทุกอย่างอยู่ ยังลงผลิตเอง แต่ก็ไม่ได้มากมาย บางครั้งตอนก็มีคนช่วยแล้ว ด้วยความที่ผักมีน้องคนหนึ่งเป็นจัดซื้อ เขาก็จะช่วยดูพวกมาตราฐานเอกสารและหลายๆอย่าง และก็มีน้องฝ่ายขาย”
พอมันไปวางบนชั้นข้างกับโยเกิร์ตที่มีอีกเป็นร้อยแบรนด์ คุณผักคิดว่าอะไรคือจุดขายของ Veggie’s Dairy
“ถ้าพูดถึงความแตกต่างของเราจะผลิตจากนมสดที่มาจากนมโคแท้ร้อยเปอร์เซ็น เน้นความเป็นธรรมชาติ ถ้าโยเกิร์ตทั่วๆไปเขาก็อาจจะมีการใส่นมผงอะไรพวกวัตถุกันเสียใส่มาด้วย”
คุณผักเล่าให้ฟังว่าเทรนด์การกินโยเกิร์ตของคนไทยมีการกินน้อยมาก กินแค่ 15% ของประชากรเอง ด้วยความที่หลายคนอาจจะไม่รู้จักและคุ้นเคยกับผลิตภัณฑ์ที่เราขาย สองตลาดที่เชียงใหม่และกรุงเทพ คุณผักเล่าว่า ถ้าเทียบกันแล้วกรุงเทพตลาดจะขายได้มากกว่า แม้ว่าจะมีการกระจายตัวมากกว่า
ขายผ่านระบบ E-Commerce
“ตอนที่ผักเริ่มขายมันมีระบบขนส่งที่เป็นห้องเย็นเข้ามาพอดี ตอนนั้นก็มีของแมวดำ ของอินเตอร์เอ็กเพลส แต่พอตอนนี้รถห้องเย็นก็มาและขายได้ดีขึ้น”
“การขายออนไลน์ เราก็จะเน้นขายเป็นแพ็คค่ะ”
ต่อไปอีกห้าปีข้างหน้าคุณผักมองว่าช่วงนี้เทรนด์ทุกอย่างเปลี่ยนเร็วมาก อย่างเมื่อก่อนที่ไปขายในตลาดได้ หลังจากที่มีโควิด ตลาดก็ปิดๆเปิดๆ การขายก็เลยกลายไปอยู่ในออนไลน์
“ถ้ามองในประเทศในระยะไม่ยาวนาน ผักอยากอยู่กระจายไปให้ได้ทั่วประเทศ ตอนนี้เราก็สร้างความรู้จักโดยการขายออนไลน์ คนอาจจะกลัวสั่งบ้าง แต่อย่างน้อยเขาก็เห็นได้รู้จักสินค้าของเรา”
“ในส่วนของผลิตภัณฑ์อื่น ผักกำลังทำโยเกิร์ตผง โยเกิร์ตแห้ง ที่จะส่งออกไปขายต่างประเทศ เพราะผักมองว่าโยเกิร์ตสดหาง่ายในประเทศ แต่หลักๆเลยอยากจะส่งออกเพราะว่ามันมีตลาดโยเกิร์ตที่กว้างกว่าและไม่มีวัตถุดิบในการที่จะผลิตเอง”
สิ่งที่ผ่านมาตลอด 6 ปีบทเรียนที่สำคัญที่สุดคืออะไร
“ความอดทนค่ะ — เพราะว่าการทำธุรกิจ สตาร์ทอัพมันไม่ได้ง่ายอยู่แล้ว อาจจะด้วยต้นทุนที่มีไม่มากหรืออะไร เราต้องทุ่มเทและอดทน ทั้งกายและใจที่ต้องเข้มแข็ง มันต้องไปด้วยกัน มันเยอะจนมันหยุดคิดเรื่องงานไม่ได้เลย มันจะอยู่กับเราตลอดเวลา มันก็ต้องอดทน เราอาจจะคุยกับที่บ้าน กับเพื่อนไม่รู้เรื่อง เพราะเรื่องธุรกิจมันจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของตัวเองที่เปลี่ยนความคิดเราไปเลย”
“ถ้าเราตั้งใจ มันก็ไม่ได้ยากไม่ได้ง่ายขนาดนั้น ความอดทนเท่านั้นค่ะ”
สุดท้ายนี้แล้วคุณผักคิดว่าจากทั้งหมดที่เกิดขึ้น มีเรื่องเกี่ยวกับดวงกี่เปอร์เซ็นที่เกิดจากการเติบโตของเรา
“เรื่องดวงนี่ให้สัก 5 เปอร์เซ็นได้ไหมคะ? ทั้งหมดที่มีมาก็คือเราต้องทำมันทั้งหมดเลย คือเราทำทุกอย่างจริงๆเลยค่ะ แต่ทุกอย่างมันจะผิดพลาดหรือดี เราก็ได้เรียนรู้ ยิ่งตอนนี้ทุกอย่างมันเปลี่ยนเร็วไปหมด เราก็เลยต้องเรียนรู้ พอมีโอกาสเข้ามาเราก็ต้องคว้าไว้ ขอบคุณทีมงานด้วยที่ช่วยเรา”