น่าจะรู้อย่างนี้ตั้งแต่ตอนอายุ 20 : TINA SEELIG
หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่คนอายุมากกว่า 20 อาจจะไม่กล้าหยิบขึ้นมาอ่านเพราะว่า “รู้งี้” เป็นความรู้สึกที่น่าอึดอัดใจสำหรับบางคน และอาจจะดึงดูดให้หลายๆคนเลือกให้ลูกหลานที่อายุยังไม่ถึง 20 ปี แต่เอาจริงๆไหม หนังสือเล่มนี้ถ้าไม่หยิบมาอ่านเลยคงน่าเสียดาย
“จงอนุญาตให้ตัวเอง… พลิกแพลง เปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส มองนอกกรอบ ตั้งเป้าหมายให้ใหญ่ ลองประสบความล้มเหลว คบหากับคนดีๆ”
คือสิ่งที่ผู้เขียนตกผลึกมาได้จากการอ่านหนังสือเล่มนี้ “น่าจะรู้อย่างนี้ตั้งแต่ตอนอายุ 20”
- ผู้เขียน Tina Seelig
หนังสือเล่มนี้เขียนโดย Tina Seelig ผู้เป็นเป็นกรรมการบริหารโครงการ Knight-Hennessy Scholars และศาสตรจารย์ประจำมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด โดยในหนังสือเล่มนี้ศาตรจารย์ทีน่าได้บอกเล่าถึงแบบฝึกหัดและกิจกรรมที่เธอได้ใช้สอนนักศึกษามหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ศาสตรจารย์ทีน่าได้บอกเล่าถึงผลลัพธ์และกรณีศึกษาที่เธอค้นพบ ไม่ว่าจะเป็นไอเดียของนักศึกษาในการใช้เงิน 5 ดอลลาห์ไปทำธุรกิจที่จะหาเงินได้มากถึง 650 ดอลลาห์ภายในเวลา 2 ชั่วโมง
จากหนังสือเล่มนี้เราจะสามารถสัมผัสได้ถึงความ “เฉียบ” ของไอเดียที่ศาสตรจารย์ในมหาวิทยาลัยระดับโลกสอนนักศึกษา
- อะไรที่เราจะได้จากหนังสือเล่มนี้
หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่อยู่ในหมวดจิตวิทยา —หรือถ้าอ่านจริงๆก็อาจจะให้อยู่หมวดพัฒนาตัวเองก็ได้ หนังสือเล่มนี้จะทำให้เราได้ย้อนคิดถึง “โอกาส ปัญหาและความท้าทาย” ที่เราคุ้นเคย และติดกับอยู่กับมัน บางเรื่องอาจเป็นเรื่องที่เราผ่านไปได้แล้ว บางเรื่องเราก็ยังอาจจะผ่านไปไม่ได้ หนังสือเล่มนี้จะช่วยให้เข้าใจและได้เรียนรู้ รวมถึงบอกใบ้วิธีแก้ปัญหานั้นด้วย
ยิ่งเราอ่านไปในแต่ละหน้าเราก็จะพบว่า “โอ้ ชีวิตนี้เป็นอนิจัง แต่ถ้าเรายังมีมันเราต้องใช้ให้คุ้ม”
- สไตล์การเขียนและการแปล
หนังสือเล่มนี้แปลออกมาได้สละสลวยและอ่านได้ลื่นหูลื่นตา ในเรื่องของเนื้อหาทั้งเล่มโดยส่วนตัวแล้วผู้อ่านมองว่ายังเป็นการเล่าเรื่องแบบ Top Down คือผู้เขียนเป็นผู้ที่เขียนในมุมของคนที่ผ่านมาโลกมาก่อน และได้มองย้อนกลับไป สำหรับกลุ่มผู้อ่านวัยรุ่น(Gen Y) ถ้าไม่ใช่นักอ่านแล้ว การเขียนสไตล์นี้คงขัดใจและมีความเป็นเรื่องเป็นราวเกินไป
แต่สำหรับ Gen X ที่เติบโตขึ้นมาหน่อย เมื่ออ่านแล้วคงจะรู้สึกเหมือนได้อ่านเรื่องสั้นจากนิตยาสารเล่มโปรดที่ทำให้ฉุกคิดเรื่องต่างๆ
ประเด็นหลักของหนังสือเล่มนี้จะอยู่ที่การพัฒนาตัวเอง ทำลายกรอบคิดเดิม มองโลกให้กว้างและเสริมความเป็นเหตุเป็นผล พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส โดยรวมแล้วเป็นหนังสือที่จะปลุกเลือดนักสู้ในตัวขึ้นมาในวันที่เราอยู่ในจุดที่ชีวิตไม่รู้จะไปปรึกษาใครดี การได้หยิบเล่มนี้จึงเหมือนการได้ย้อนกลับไปอ่านและทบทวนวิธีคิดของตัวเองใหม่
- หน้าไหนที่น่าสนใจ
เรื่องโปรดของผู้เขียน(ผู้อ่านหนังสือเล่มนี้) อยู่ในบทที่ 6 ไม่เอาหรอก วิศวะน่ะมันเป็นเรื่องของผู้หญิง โดยในบทนี้ทีน่าได้พูดถึงความรัก ความสามารถและความต้องการของตลาด ถ้าทำในสิ่งที่เรารัก นั่นหมายความคือสิ่งที่เราถนัดและมีความสามารถมาโดยตลอด โดยบางทีสิ่งที่เรารัก ก็ไม่มีความสามารถหรือนำสิ่งนั้นมาประกอบอาชีพได้ “แค่ได้ทำสิ่งที่รักน่ะ มันไม่พอหรอกในชีวิตที่เราเกิดมาแค่ครั้งเดียว”
ในบทนี้ศาสตรจารย์ทีน่าได้บอกว่ามันเป็นเรื่องดีถ้าหากว่าเราจะได้ทำอะไรก็ตามในสิ่งที่เรารัก แต่อย่างไรก็ดีแม้ความรักจะเป็นแรงผลักดันที่สำคัญ แต่การที่เราอาศัยอยู่ในโลกทุนนิยม เราจะเพียงแค่ตั้งหน้าตั้งตาทำในสิ่งที่รักเพียงอย่างเดียวไม่ได้ และบางครั้งเราอาจะต้องใช้เวลาเพื่อให้ความสามารถ ความสนใจและความต้องการของตลาดมาบรรจบกัน หรือบางทีเราก็ควรลองเปลี่ยนเส้นทางเพื่อให้ได้มุมมองใหม่ที่เราเห็นในเป้าหมายของเรา และเหนือสิ่งอื่นใด สิ่งที่เราทำนั้นควรเป็นไปเพื่อตัวเราเอง ไม่ใช่เป็นสิ่งที่ใครสักบอกว่ามันเหมาะหรือไม่เหมาะกับเรา
ประโยคส่งท้ายในบทนี้น่าสนใจมากทีเดียวและควรค่าแก่การเป็นบทสรุปในการรีวิวนี้
“จงระวังคำแนะนำเกี่ยวกับอาชีพการงานทั้งหลาย รวมถึงคำแนะนำของฉันด้วย”
Tina Seelig