จากนักดนตรีแจ๊ส เจ้าของ North Gate Jazz Bar หันมาปลูกข้าว สร้างนวัตกรรม เพื่อยกระดับข้าวไทย – “โอปอ – ภราดล พรอำนวย”
‘ข้าว’ เป็นสินค้าเกษตรอย่างหนึ่งที่ต่ายเชื่อว่าเราคุ้นเคยกับมันมาเป็นอย่างดี ตั้งแต่เกิดจนโตแทบจะเรียกได้ว่าเจอกันทุกวัน เราคลุกคลีอยู่กับมันตลอดแทบทุกมื้ออาหาร และไทยเองก็เป็นประเทศที่ส่งออกข้าวเป็นอันดับ 4 ของโลกในเวลานี้ ถ้าจะบอกว่ารสชาติและคุณภาพของข้าวบ้านเราถือเป็นนั้นมีชื่อเสียงระดับโลกก็คงไม่ผิดนัก
แต่ถึงแม้อย่างนั้นก็ตาม เรายังเห็นภาพชาวนาทำงานหนัก หลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดิน กรำแดดปลูกข้าวเกี่ยวข้าวกว่าจะนำไปขาย แต่สุดท้ายสิ้นปีมาก็แทบไม่เหลืออะไรเลย ทำงานหนักแต่ผลตอบแทนนั้นแทบจะเรียกได้ว่าทำเพื่อความอยู่รอด ทำเพราะไม่มีทางเลือกซะมากกว่า ทั้งๆที่มันเป็นพืชเศรษฐกิจของประเทศ แต่คนที่ปลูกจริงๆแล้วนั้นกลับลำบากและได้รับผลตอบแทนที่ไม่คุ้มค่าสักเท่าไหร่
นี่เป็นปัญหาหนึ่งที่เราเคยได้ยินกันมาโดยตลอด มีหลายๆคนที่พยายามจะแก้ไขปัญหาตรงนี้แต่ก็ยังไม่ได้ออกมาเป็นอะไรที่จับต้องได้ แต่วันก่อนต่ายไปเจอโพสต์หนึ่งบนเฟซบุ๊คกรุ๊ป “กาดหมั้วซั่วแห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่” ครับ เป็นโพสต์ประกาศขายสินค้าชื่อ “YoRice Amazake” สิ่งแรกที่เตะตาคือแพคเกจจิ้ง แต่สิ่งที่ทำให้ต่ายสนใจมากขึ้นไปอีกคือคำอธิบายที่บอกว่า “ตัวเองมีอาชีพเป็นนักดนตรีแต่ช่วงนี้ตกงานเลยหันมาปลูกข้าวและศึกษาเกี่ยวกับนวัตกรรมอาหาร” (โพสต์นั้นก็คือโพสต์นี้เองครับ)
ต่ายก็ IB ไปหน้าแฟนเพจของร้านเพื่อขอสัมภาษณ์ถึงแนวคิดและแรงบันดาลใจในการลุกมาทำอะไรที่แปลกใหม่ครั้งนี้ เพราะมันเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับข้าวไทยพื้นบ้าน แปรรูปและปรับตัวให้เข้าถึงผู้บริโภคกลุ่มใหม่หรือรุ่นใหม่มากยิ่งขึ้น นั้นคือแนวคิดของคุณ โอปอ-ภราดล พรอำนวย ที่จะพยายามจะพัฒนาข้าวพื้นบ้านไทยให้มีคุณค่าและช่วยช่วยเหลือเกษตกรในระยะยาวได้ยังไง
แนะนำตัวนิดหนึ่งครับ
“ผมชื่อ โอปอ ภราดล พรอำนวย ครับ เป็นนักดนตรีแจ๊ส ผมเป็นเจ้าของ North Gate Jazz Bar และ Thapae East ผมเคยทำคาเฟ่ด้วย ชื่อ Birdnest ผมทำขนมปังเองด้วยนะตอนนั้น”
หลายคนอาจจะรู้คุณโอปอในชื่อ ‘ปอ นอร์ทเกต’ เล่าว่าพื้นเพคุณพ่อคุณแม่เป็นคนกรุงเทพฯ แต่คุณโอปอเติบโตมากับคุณแม่และน้า หลังตลาดธานินทร์ก็เลยรู้สึกเหมือนตัวเองเป็นคนเชียงใหม่
คุณโอปอเล่าให้ฟังว่าช่วงที่เรียน ปวช. เป็นช่วงที่เริ่มมาเป่าแซคโซโฟนและเล่นกีต้าร์คลาสสิค ก่อนจะมาเรียนที่ มช.
“ตอนเด็กแม่ของผมก็เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวนะ ละก็จะมีน้าผมอีกคนที่ช่วยกันเลี้ยงผม น้าผมกับแม่ผมบางทีถ้าไม่มีคนอยู่บ้านผมก็จะตามน้าไป The Riverside แล้วก็จะไปนั่งรอข้างเวที นอนเล่นใต้เปียโน เลยได้แรงบันดาลใจมาจากตรงนี้ด้วย และด้วยความที่เป็นเด็กก็เล่นไปจับเม้าส์ออแกน จับกีต้าร์ แต่พอได้มีหัดเล่นแซ็กโซโฟน ผมก็เกิดหลงใหลในดนตรีแจ๊ส”
“ตอนนั้นผมได้ทุนไปเรียนดนตรีเป็นคอร์สสั้นๆ ที่อเมริกา แล้วผมก็กลับมาเรียนต่อจนจบ หลังจากนั้นก็เริ่มต้นตามความฝันที่อยากออกเดินทาง”
ถ้าใครยังพอจะจำกันได้คุณโอปอเคยไปออกรายการ ‘คนค้นฅน’ มาด้วยนะครับ
จากนั้นคุณโอปอก็เล่าให้ต่ายฟังว่าตัวเองได้โบกรถไปเรื่อยๆจากเชียงใหม่ไปถึงโตเกียว ไปอังกฤษ ไปฝรั่งเศส มันเป็นการผจญภัยที่เปลี่ยนชีวิตมาก คุณโอปอยังเคยเขียนหนังสือเกี่ยวกับเรื่องนี้ด้วยนะครับ ชื่อว่า “ลมใต้ปอด”
ที่มาที่ไปของการมาทำ YoRice ก็คือช่วงวิกฤตโควิด 19 รอบแรก
“รอบแรกเรายังชิวนะ เรากับเพื่อนๆ ยังช่วยกันออกแบบขับเคลื่อน #ครัวกลาง ในการช่วยเหลือชุมชน ยังมาช่วยกันระดมข้าวให้กับค่ายผู้อพยพบริเวณชายแดน คนหกพันคนมีปัญหา มีเด็กประมาณสองพันห้าร้อยคน หนึ่งพันห้าร้อยคนเป็นเด็กกำพร้า ครั้งนั้นมีความพยายามระดม ข้าวสารหัก กิโลกรัมล่ะ 15 บาท สำหรับการช่วยเหลือ 1 ครอบครัว/ 1 มื้อ”
“ครั้งนั้นเราสามารถระดมข้าวได้ 150 กว่าตัน และทำให้เกิดการตั้งคำถามมากมายขึ้นในใจเกี่ยวกับข้าว และเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ว่าทำไมมันถึงราคาถูก ทำไมมันไม่มีมูลค่า ทำไมเกษตรกรไม่มีโอกาสได้กินข้าวคุณภาพดีปลอดสารพิษเพื่อสุขภาพของพวกเขาเอง ทำไมมีข้าวกว่า 20,000 ชนิด แต่เราได้มีโอกาสได้กิน หรือรู้จักกันเพียงไม่กี่ชนิด … และอีกหลายๆ คำถาม”
จากความสนใจในเรื่องข้าว คุณโอปอสงสัยว่าทำไมเข้าที่เป็นสินค้าเศรษฐกิจถึงไม่มีมูลค่า และถ้าเรายังมัวแต่ระดมทุนเอาข้าวให้เกษตกรก็คงไม่ได้ไม่นาน คุณโอปอ และทีมงานก็เลยคิดโครงการ ที่อยากชวนเกษตรกรมาปลูกข้าวอินทรีย์ และหาทางเพิ่มมูลค่าของข้าว น่าจะเป็นทางออกของการให้ความช่วยเหลืออย่างเป็นระบบในระยะยาว จนในที่สุดก็ได้มาเจอกับคุณหมอก้องเกียรติ (นพ.ก้องเกียรติ เกษเพ็ชร์) คุณหมอที่ไม่อยากให้โลกนี้มีหมอ แต่เชื่อว่ามนุษย์สามารถทานอาหารให้เป็นยา เพื่อสุขภาวะที่ดีของสังคม คุณหมอทำงานวิจัยเรื่องข้าวมาตลอด 10 ปี และตั้งแต่วันนั้น ก็เป็นจุดเริ่มต้นของ YoRice Amazake แปลตรงตัวว่าสาเกหวานที่ไม่มีแอลกอฮอล์
“ตอนโควิดรอบแรกเราก็ไม่คิดมันจะมีระลอก 2 ระลอก 3 ก็คิดไม่ถึง ยอมรับว่าประมาทเกินไป” (คุณโอปอพูดแล้วก็หัวเราะ)
หลังจากที่คุณโอปอมีไอเดียว่าอยากเพิ่มมูลค่าข้าวแล้ว แต่กว่าจะมาออกมาในรูปแบบของผลิตภัณฑ์
“โดยส่วนตัวแล้วเวลาจะทำธุรกิจผมก็จะทำไปตามขั้นตอน แต่ทางสายผลิตภัณฑ์เนี่ยเป็นสิ่งใหม่และเป็นสิ่งแรกเลยที่ผมไปเรียนรู้ อยากจะเข้าใจการปลูกข้าวมากขึ้น ทำอะไรสักอย่างผมก็อยากทำอะไรให้ถึงที่สุด”
“พวกเราโชคดี ที่ได้มาเรียนรู้เรื่องราวของระบบนิเวศน์ทั้งสัตว์ และพืชพันธุ์บนท้องนา จากพี่ๆ เครื่อข่ายเกษตรอินทรีย์, เรื่องราววัฒนธรรมการปลูกข้าวไร่ ได้ฟังบทเพลงเตหน่า เพื่อขอบคุณเมล็ดข้าวของพี่น้องชนเผ่าปาเกอญอ ได้เดินทางไปดูการปลูกข้าวพันธุ์หายากที่ภาคอีสาน ทั้งข้าวสินเหล็ก ข้าวมะลินิลสุรินทร์ …”
”ทั้งหมดนี้ผมกับทีมงานก็ค่อยๆ เรียนรู้ตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมา ทั้งโชคดีที่มีโอกาสได้ร่วมทำงานวิจัยกับพี่หมอก้อง (นพ.ก้องเกียรติ) จนได้คุยกันว่าที่ญี่ปุ่นมีอาหาร Super Food ที่ได้รับความนิยมมาตลอดยุคสมัยก็คือ Amazake ที่คนญี่ปุ่นจะนำข้าวโคจิ (เชื้อรา Aspergillus Oryzae) ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เมื่อนำไปหมักกับข้าวหุงสุก เอนไซม์ในโคจิจะไปย่อยแป้งข้าวให้เป็นความหวานที่เกิดจากนำ้ตาลเส้นสั้น ที่ร่างกายดูดซึมได้ มีวิตามินบี กรดอะมิโน สารต้านอนุมูลอิสระ รวมถึงแบททีเรียที่มีประโยชน์ต่อร่างกายและสมอง ซึ่งทั้งหมดนี้อ้างอิงจากงานวิจัยของคุณหมอที่ทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และมหาวิทยาลัยราชภัฎนครพนม”
“แต่กว่าเราจะทำ Koji ได้ เรียกว่าเรียนรู้กันตลอดปี เพราะเป็นการทำงานกับเอนไซม์ของสิ่งมีชีวิต หรือเชื้อราในธรรมชาติที่มีประโยชน์ การเลี้ยงโคจิจึงมีทั้งเรื่องระยะเวลาการล้าง การแช่ การนึ่งข้าว และการควบคุมอุณหภูมิในห้องโคจิกว่า 70 ชั่วโมง -ทีมงานต้องแปลหนังสือญี่ปุ่นกันเลยว่าต้องทำยังไง”
กระบวนการทั้งหมดใช้เวลาเรียนรู้ร่วมปี โดยตอนนี้ YoRice Amazake ได้ใช้ข้าวสายพันธุ์ญี่ปุ่น ก.กว.2 จากจังหวัดเชียงราย สำหรับการเพาะเชื้อโคจิ และใช้ข้าวหอมมะลิ รวมถึงข้าวมะลินิลสุรินทร์ สำหรับการหมักอามาซาเกะ รวมถึงมีแผนการต่อยอดข้าวพันธุ์พื้นบ้าน ทั้งข้าวดอย ข้าวสินเหล็ก ข้าวลืมผัว รวมถึงข้าวสายพันธุ์อื่นๆ สำหรับการต่อยอดในอนาคต
“คนสมัยก่อนสุดยอดเลยนะครับ ที่นาสูงต่ำ ระดับน้ำมากน้อยต่างกันก็จะปลูกข้าวต่างชนิด ทำให้นาผืนเดียวอาจปลูกข้าวหลายสายพันธุ์พวกเขาเลือกกินอาหารเพื่อเป็นยาของชีวิตจริงๆ”
เมื่อได้ผลิตภัณฑ์มากว่าจะเข้าสู่ตลาด
“เรื่องนี้เป็นโจทย์ที่ยากที่สุดโจทย์หนึ่งเลยครับ เพราะมันเป็นสิ่งใหม่มากสำหรับพวกเรา ถ้าจะให้ผมตอบแบบตรงๆ ก็คือ ก็ยังไม่รู้เหมือนกันครับ (หัวเราะ) รู้แค่ว่าหากเราไม่ลืมว่าเราทำสิ่งนี้เพื่ออะไร และยึดมั่นความต้องการที่จะยกระดับข้าวไทยด้วยนวัตกรรม เราก็จะใช้สิ่งนี้เป็นเหมือนเข็มทิศนำทาง ก่อนเดินทางไกล ก็คงต้องเดินทางใกล้ก่อน ที่ผ่านมาก่อนโพสต์ขายในเพจ ‘กาดมั่วมหาวิทยาลัยเชียงใหม่’ เราได้ทดลองทำตลาดกับชาวญี่ปุ่นอยู่ประมาณหนึ่งเดือน ซึ่งต้องขอบคุณทีมงานเพื่อนชาวญี่ปุ่น ซึ่งผลตอบรับที่ดี หลายครอบครัวกลับมาซื้อซำ้ บางครอบครัวอยู่ไกลถึงต่างอำเภอก็ยังขับรถมาซื้อกลับไปหลายสิบขวด ก็ทำให้ทีมงานทุกคนรู้สึกมั่นใจในคุณภาพ และรสชาติมากขึ้น จนได้เริ่มเปิดตลาดแนะนำให้กับกลุ่มคนไทยที่รักสุขภาพ”
คุณโอปอเห็นว่าการสร้างความเชื่อมั่นในสินค้าเป็นหัวใจสำคัญ ที่ผ่านมาก็มีความพยายามอย่างเต็มที่จะพัฒนาปรับปรุงทุกขั้นตอนให้ดีขึ้น ทั้งกระบวนการผลิต การออกแบบฉลาก รูปแบบการสื่อสาร รวมถึงการรักษามาตรฐานเพื่อให้ผ่าน อย. (สำนักงานคณะกรรมการ อาหารและยา) – ในวันที่ต่ายไปพบคุณโอปอ วันนี้คุณโอปอกำลังจะไปรับผลมาเลยครับ
“กระบวนการปรุงอามาซาเกะ หมายถึงการรักษาอุณหภูมิที่เหมาะสม กับสัดส่วนของข้าว โคจิ เกลือ และนำ้ ...ที่ญี่ปุ่นมาการกินอามาซาเกะเป็นของหวาน เขาจะกินไปพร้อมกากข้าวเพราะมีการใยอาหารที่มีประโยชน์สูง และจะฟานขิงใส่เพื่อตัดความหวานลง บางดื่มใส่น้ำแข็ง หรือโซดา บ้างอุ่นให้ร้อนและดื่มก่อนนอนเพื่อให้นอนหลับง่าย ทั้งมีการนำไปประยุกต์เป็นขนมหลากหลายทั้ง คิทแคท หรือป๊อกกี้รสอามาซาเกะ ทั้งไอศกรีมก็มี”
จะทำยังไงให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าคนไทยได้
“ผมคิดว่าการชี้ให้เห็นคุณค่า รวมถึงคุณประโยชน์คงสิ่งสำคัญสำหรับการเริ่มต้น รวมถึงเรื่องราว และจิตวิญญาณของข้าวไทย ที่เป็นเหมือนรากฐานของสังคม วัฒนธรรมแห่งโลกตะวันออกเลยก็ว่าได้ ด้วยสิ่งนี้พวกเราเชื่อว่าจะสามารถสร้างแบรนด์ให้เป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทยได้ครับ”
“หากพูดถึงในเชิงสุขภาพ ผมและทีมงานทุกคนตั้งใจที่จะแสดงให้เห็นถึงคุณประโยชน์อันหลากหลายของข้าวไทยพื้นบ้าน ที่จะมาสร้างประสบการณ์ทางความรู้สึกผ่านรสชาติ แห่งข้าวที่คุณจะไม่เคยสัมผัสมาก่อน และด้วยรสชาติอันหอม หวาน เต็มเปี่ยมด้วยคุณค่าเหล่านี้ ผมเชื่อว่าที่จะทำให้มุมมองของพวเราที่มีต่อข้าวทุกเมล็ดเปลี่ยนแปลงไป… “
โปรเจค เป็นสุขในนา ก็คือโปรเจคใหญ่ซึ่ง YoRice ก็อยู่ใต้โปรเจคนี้ โปรเจคเป็นสุขจะเป็นโปรเจคที่จะเอาเรื่องของท้องนามาสื่อสาร ความสุขในผืนนาเล็กๆ ความหลากหลาย ความหยั่งยืน เรื่องข้าว เรื่องของพืชพันธุ์ที่อยู่ในแปลงนาในมิติของเกษตรกรและนักดนตรี
“ผมเขียนสตอรี่ไว้ เป็นสุขในนา มีประมาณ 23 ตอน ลองไปดูเลยได้นะบน Facebook #ในนาไดอารี่”
มันก็เลยไปเกี่ยวกับปรัชญาบนเว็บไซต์ใช่ไหมครับ
“ปรัชญาบนเว็บไซด์ คือเข็มทิศที่พวกเราทีมงานตั้งธงไว้นะครับ จะได้ไม่หลงทาง.. ว่าพันธกิจนี้คือการเพิ่มมูลค่าให้กับข้าวไทยด้วยนวัตกรรม”
“การลุกขึ้นมาทำบางอย่าง ผมเห็นว่ามันมีเรื่องของลำดับขั้นตอน ซึ่งขั้นตอนของแต่ละคนก็คงไม่เหมือน แตกต่างกันไปตามการให้ความหมายชีวิต และความฝัน แต่สิ่งหนึ่งที่ผมเห็นว่าสำคัญก็คือการมีวินัย วินัยในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการจัดระเบียบซะทีเดียวแต่ผมหมายถึง ความซื่อสัตย์ที่คุณจะมีต่อชีวิต และความฝันของคุณเอง เพราะในชีวิตหนึ่งคุณคงไม่ได้อยากเป็นเพียงแค่ผู้มาเยือน แต่คุณคงอยากที่จะมีชีวิตที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความหมายบางอย่าง … ผมเห็นอย่างนั้นนะ ”
ช่องติดต่อ
เว็บไซต์ : http://yoricedrink.com
เฟซบุ๊คแฟนเพจ : YoRice Amazake เครื่องดื่มสุขภาพ
เบอร์โทรศัพท์ : 095 595 5244