🛍️ ’Buy Now : The Shopping Conspiracy’ สารคดีที่เพิ่งเปิดตัวใน Netflix ไปเมื่อไม่กี่วันก่อนเรียกเสียงฮือฮาบนโลกออนไลน์จากผู้ชมได้ไม่น้อย นอกจากประเด็นที่น่าสนใจแล้ว การเลือกจังหวะปล่อยออกมาก่อนวันชอปปิงแห่งปีของอเมริกาอย่าง ‘Black Friday’ (29/11) เหมือนเป็นการดึงสติให้มองเห็นด้านมืดถึงสิ่งที่เรียกว่า ‘Consumerism’ หรือ ‘การบริโภคนิยม’ กันอย่างจริงจังอีกครั้ง
.
สารคดีเรื่องนี้เปิดเผยเรื่องราวความจริง (ที่เราอาจจะรู้ แต่ไม่อยากรับรู้) ที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังระบบบริโภคนิยม โดยชี้ให้เห็นว่าองค์กรใหญ่ๆ มีวิธีจูงใจให้ผู้บริโภคอย่างเราๆ ใช้จ่ายฟุ่มเฟือยเกินพอดี และให้ความสำคัญกับกำไรมากกว่าสิ่งแวดล้อม
.
เนื้อหาในสารคดีนี้จะเปิดโปงกลยุทธ์ต่างๆ ของบริษัทที่กระตุ้นการบริโภคเกินความจำเป็น ผ่านการสัมภาษณ์ผ่านผู้เชี่ยวชาญและหลายคนเคยเป็นคนที่อยู่วงในของอุตสาหกรรมเหล่านั้น
.
🌍 นอกจากนี้ยังลงลึกถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น ตั้งแต่ขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ถูกทิ้งในเอเชีย (ประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในนั้น) ไปจนถึงแหล่งน้ำที่ปนเปื้อนในกานา การเปิดเผยปัญหาเหล่านี้ทำให้ผู้ชมต้องกลับมาตั้งคำถามกับพฤติกรรมการซื้อของตัวเอง และต่อต้านกับดักที่แบรนด์ต่างๆ วางไว้เพื่อหวังผลกำไร
.
⚠️ [ด้านล่างมีการเปิดเผยเนื้อหาของสารคดี]
.
ประสบการณ์ชอปปิงที่ลื่นไหลคือบันไดขั้นแรก
.
ในสารคดีเรื่องนี้จะดำเนินเนื้อเรื่องโดย AI ที่เรียกตัวเองว่า “Sasha” ซึ่งจะมาบอก 5 ขั้นตอน (หรือบทเรียน) ที่บริษัทยักษ์ใหญ่ทั้งหลายใช้เพื่อสร้างกำไรสูงสุด ซึ่งขั้นตอนแรกคือการ ‘ขายให้มากขึ้น’ (Sell More)
.
อดีตประธานแบรนด์อาดิดาส อย่าง อีริก ลินต์กี (Eric Liedtke) รู้สึกว่าตัวเองมีส่วนทำลายสิ่งแวดล้อมในช่วงที่ทำงานที่อาดิดาส เขาเล่าว่า บริษัทต่างๆ มักสร้างเรื่องราวเพื่อกระตุ้นให้ผู้บริโภคซื้อของมากขึ้น จุดพลิกผันครั้งใหญ่ของอาดิดาสหลังจากที่ตลาดซบเซา คือการออกรองเท้ารุ่นใหม่และการร่วมงานกับเหล่าคนดัง นักร้อง หรือแบรนด์แฟชั่นหรู ซึ่งการเล่าเรื่องราวใหม่ๆ ทำให้ผู้บริโภคอยากซื้อมากขึ้น
.
🎯 “ไม่มีใครอยากได้ฮู้ดดี้ตัวใหม่ เสื้อยืดตัวใหม่ หรือ รองเท้าคู่ใหม่ สิ่งที่ผู้บริโภคต้องการคือเหตุผลที่น่าสนใจมากพอในการซื้อสินค้าเหล่านั้นต่างหาก” เอริคกล่าว
.
โรเจอร์ ลี (Roger Lee) เจ้าของโรงงานผู้ผลิตเสื้อผ้า เล่าในสารคดีว่า 1 ใน 6 ของเสื้อเดรสที่ขายในตลาดสหรัฐฯ มาจากโรงงานของเขาเอง ย้อนกลับไปเมื่อหลายปีก่อน การออกไอเทมใหม่ๆ ของแบรนด์เสื้อผ้าจะเกิดขึ้นราวๆ ปีละ 2 ครั้ง แต่ตอนนี้ เมื่อฟาสต์แฟชั่นกลายเป็นที่นิยมของลูกค้ามากขึ้น แบรนด์แฟชั่นแทบต้องออกสินค้าใหม่ทุกเดือนเลย และเป็นจำนวนมหาศาลด้วย
.
📊 ลีเล่าว่าแม้จะไม่มีตัวเลขที่แน่นอนชัดเจน แต่จากข้อมูลของ Google พบว่า GAP ผลิตสินค้าใหม่ราว 12,000 ชิ้นต่อปี H&M ผลิต 25,000 ชิ้นต่อปี Zara ผลิต 36,000 ชิ้นต่อปี และที่น่าตกใจที่สุดคือ SHEIN ผลิตสินค้าใหม่มากถึง 1.3 ล้านชิ้นต่อปี อย่างไรก็ตามลีเชื่อว่า “ตัวเลขจริงน่าจะสูงกว่านี้”
.
ตอนที่ มาเรน คอสตา (Maren Costa) เริ่มทำงานที่ Amazon ในฐานะ ‘นักออกแบบประสบการณ์ลูกค้า’ ปี 2005 การชอปปิงออนไลน์กำลังตั้งไข่ ไม่ใช่ตัวเลือกที่คนนิยมเท่าไหร่ การจะให้ใครซื้อกางเกงยีนส์สักตัวหนึ่งเป็นเรื่องยากมาก ตอนนั้นทุกอย่างดูเป็นเรื่องสนุกและท้าทาย และ Amazon ก็เห็นโอกาสว่าการขายเสื้อผ้าและอาหารออนไลน์น่าจะทำกำไรได้ดี
.
⚠️ กลยุทธ์ของปุ่ม “ซื้อด้วยคลิกเดียว” (Buy Now with 1-Click) ถูกคิดค้นขึ้นมาโดย เจฟฟ์ เบโซส (Jeff Bezos) ผู้ก่อตั้งและอดีต CEO ของบริษัทเพื่อไม่ให้ผู้บริโภคคิดมากเกินไปว่าต้องซื้อของชิ้นนั้นจริงๆ หรือเปล่า สร้างประสบการณ์การซื้อของที่ลื่นไหล (Frictionless) คลิกแล้วอีกวันมีของมาส่งหน้าบ้านเลย มันทั้งเร็วและง่าย ตอนนั้นคอสตาคิดว่าเธอกำลังทำให้การชอปปิงเป็นเรื่องสนุกและน่าประทับใจ แต่เธอไม่เคยนึกถึงผลกระทบที่จะตามมาจากสิ่งที่เธอทำเลย
.
ขยะที่เกิดขึ้น
.
ขั้นที่สองของการสร้างผลกำไรสูงสุดคือการ ‘สร้างขยะมากขึ้น’ (Waste More)
.
พอล โพลแมน (Paul Polman) อดีตซีอีโอของยูนิลีเวอร์ (2009 – 2019) เล่าว่า ผู้คนถูกกระตุ้นให้บริโภคสินค้ามากขึ้นเรื่อยๆ บริษัทต่างๆ เป็นคนกำหนดว่าเมื่อไหร่ที่ผู้บริโภคควรทิ้งสินค้าเก่าและซื้อใหม่
.
“สินค้าของยูนิลิเวอร์ไปถึงมือผู้บริโภคกว่า 3,500 ล้านคนทั่วโลก ผมไม่ได้คิดว่าผู้บริโภคคือผู้ร้ายในเรื่องนี้นะ แน่นอนพวกเขาบริโภค แต่ทำไมพวกเขาถึงบริโภคละ? เพราะพวกเขาถูกกระตุ้นอย่างมากเลยต่างหาก” โพลแมนกล่าว
.
ด้าน นิราฟ พาเทล (Nirav Patel) ซีอีโอของ Framework บริษัทผู้ผลิตโน้ตบุ๊กคอมพิวเตอร์ที่ผู้ใช้งานสามารถซื้ออะไหล่มาเปลี่ยนหรือซ่อมได้เอง เขาเคยทำงานในวงการอิเล็กทรอนิกส์มานานหลายสิบปี เป็นหนึ่งในทีมที่พัฒนาฟีเจอร์ FaceTime ให้กับ iPhone เขาเล่าว่า Apple เริ่มออกโทรศัพท์รุ่นใหม่โดยอ้างว่ามีการพัฒนาซอฟต์แวร์หรือฮาร์ดแวร์บางอย่าง เพื่อจูงใจให้ผู้บริโภคซื้อสินค้าใหม่ และทุกอย่างที่แอปเปิลทำก็กลายเป็นต้นแบบให้บริษัทอิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ ทำตาม
.
นี่คือกลยุทธ์ที่เรียกว่า ‘ออกแบบให้หมดอายุขัย (planned obsolescence)’ ซึ่งเป็นกลยุทธ์ของบริษัทที่จงใจออกแบบสินค้าให้ ‘พัง’ เมื่อเวลาผ่านไปสักระยะหนึ่งแล้ว และถูกใช้กันมาตลอดในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา เพื่อกระตุ้นให้คนซื้อมากขึ้น โดยไม่สนใจว่าขยะที่ทิ้งจะไปอยู่ไหน
.
ไคล์ วีนส์ (Kyle Wiens) ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของ iFixit เล่าว่าบริษัทของเขาซ่อมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ให้ใช้งานได้นานขึ้น เพื่อลดการซื้อสินค้าใหม่บ่อยๆ แต่ iFixit มักโดนแจ้งลบคอนเทนต์เรื่องลิขสิทธิ์ เพราะการซ่อมแซมของบริษัททำให้ผู้บริโภคไม่จำเป็นต้องซื้อสินค้าใหม่
.
🔧 เพื่อทำให้การซ่อมแซมยากขึ้น บริษัทหลายแห่งเริ่มผลิตสินค้าที่ซ่อมไม่ได้หรือซ่อมยากมาก หนึ่งในสินค้าที่วีนส์เกลียดที่สุดคือหูฟังแบบ AirPods/EarPods เพราะแบตเตอรี่ไม่สามารถเปลี่ยนได้ นอกจากนี้ โทรศัพท์รุ่นใหม่ๆ ยังเอาช่องเสียบหูฟังออกเพื่อบังคับให้ผู้บริโภคต้องซื้อหูฟังไร้สายอีกด้วย
.
🗑️ เรื่องนี้ถูกชี้ให้เห็นชัดมากขึ้นจากประสบการณ์ของ แอนนา แซคส์ (Anna Sacks) อดีตนักลงทุนธนาคาร ได้เปิดโปงว่าบริษัทต่างๆ กำจัดสินค้าที่ยังใช้งานได้ดีด้วยการทำลายทิ้ง ทั้งสินค้าที่เป็นของแบรนด์เนม (อย่างกระเป๋า) หรือสินค้าที่อาจจะใกล้หมดอายุจากห้างร้านค้าจะถูกเอาไปทิ้งขยะ ทั้งๆ ที่มันยังสามารถใช้งานได้อยู่ แต่ด้วยความที่แบรนด์ไม่อยากให้สินค้าถูกใช้โดยคนไร้บ้าน (หรือคนที่ไม่ได้จ่ายเงิน) จึงเลือกที่จะทำลายทิ้ง (นี่นับถึงอาหารต่างๆ ในช่วงเทศกาลด้วย)
.
รีไซเคิลช่วยอะไรได้จริงเหรอ?
.
ขั้นตอนที่ 3 ของการสร้างผลกำไรสูงสุดคือการ ‘โกหกให้มากขึ้น’ (Lie More)
.
ตอนที่แซคส์เริ่มออกมารณรงค์ให้พนักงานขององค์กรต่างๆ ออกมาเปิดเผยเรื่องการจัดการขยะที่แย่ๆ ของบริษัท ความจริงก็เริ่มเผยออกมาให้เห็นมากขึ้น พนักงานคนหนึ่งของ Bath and Body Works เล่าว่า คนไร้บ้านมักจะมาหาของในถังขยะและใช้ผลิตภัณฑ์ของบริษัท บริษัทจึงสั่งให้พนักงานเทผลิตภัณฑ์ทิ้งก่อน เพราะไม่อยากให้แบรนด์ถูกเชื่อมโยงกับคนไร้บ้าน ส่วน Amazon ก็เป็นหนึ่งในบริษัทที่ทิ้งของดีๆ ลงหลุมฝังกลบเพราะเมื่อคำนวณเรื่องต้นทุนต่างๆ เป็นสิ่งที่ทำได้ง่ายกว่า
.
มารา ไอน์สไตน์ (Mara Einstein) อดีตผู้บริหารฝ่ายการตลาด ตระหนักว่าผู้บริโภคเชื่อใจและเชื่อทุกอย่างที่บริษัทพูด น่าเศร้าที่บริษัทต่างๆ ชอบแสดงออกว่าพวกเขาใส่ใจและปกป้องสิ่งแวดล้อม ทั้งที่ความจริงพวกเขากลับเป็นผู้ทำลายสิ่งแวดล้อมเสียเอง
.
บริษัทอย่าง Coca-Cola และบริษัทอื่นๆ บอกว่าการรีไซเคิลจะแก้ปัญหาพลาสติกได้ แต่ทางออกที่แท้จริงคือการผลิตพลาสติกให้น้อยลง แจน เดลล์ (Jan Dell) วิศวกรเคมี บอกว่าฉลากติดผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ในซูเปอร์มาร์เก็ตหรือร้านค้าต่างๆ เป็นเรื่องที่โกหก
.
🚫 ฉลากพวกนี้อ้างว่าสินค้ารีไซเคิลได้ แต่เดลล์บอกว่าพลาสติกส่วนใหญ่รีไซเคิลไม่ได้ บริษัททำแบบนี้เพื่อไม่ให้ผู้บริโภครู้สึกผิดที่ซื้อสินค้า เมื่อฉลากบอกว่าสินค้านำกลับมาใช้ใหม่ได้ มันแค่หมายความว่าสินค้าจะถูกคัดแยกแล้วเอาไปฝังหรือเผาเท่านั้น เช่นเดียวกับจุดรับคืนสินค้าในร้านค้า บริษัทไม่ได้รีไซเคิลจริง แต่เอาไปทิ้งหรือเผาซะมากกว่า
.
แล้วขยะพวกนี้ไปไหน?
.
ขั้นตอนที่ 4 ของการสร้างผลกำไรสูงสุดคือการ ‘ปิดบังให้มากขึ้น’ (Hide More)
.
♻️ เดลล์เล่าว่ามีสินค้าเพียง 10% เท่านั้นที่ถูกรีไซเคิลทั่วโลก บริษัทต่างๆ ยังใช้เทคนิคที่เรียกว่า “กรีนวอชชิ่ง” (Greenwashing) ที่แสร้งทำเป็นใส่ใจสิ่งแวดล้อม แต่ความจริงไม่ได้สนใจเลย แม้จะมีบางบริษัทที่พยายามทำจริง แต่ก็ยังไม่มากพอที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับสิ่งแวดล้อมได้
.
ตอนที่คอสตาทำงานที่อเมซอน พนักงานรวมตัวกันเรียกร้องให้บริษัทใส่ใจเรื่องความยั่งยืนมากขึ้น แต่เมื่อไม่มีอะไรดีขึ้น พนักงานอเมซอนจึงนัดหยุดงานประท้วง หลังจากนั้นไม่นาน เบโซส ก็ประกาศนโยบายด้านสภาพภูมิอากาศ
.
จิม พัคเก็ตต์ (Jim Puckett) นักสืบสวนเรื่องขยะ (มีฉายาเรียกเขาว่า ‘เจมส์ บอนด์ เรื่องขยะ’ ด้วย) ใช้เวลาทั้งอาชีพในการติดตามและหาว่าขยะที่ถูกกำจัดนั้นจบลงที่ไหน ในช่วงที่ถ่ายทำสารคดี จิมกำลังติดตามอุปกรณ์ราว 400 ชิ้น โดยใส่เครื่องติดตามไว้ในทีวี LED/LCD แล้วส่งให้ผู้รีไซเคิล กรณีหนึ่งที่พบคือ อุปกรณ์ถูกส่งจากโรงงานรีไซเคิลในเยอรมนีไปถึงเบลเยียม แม้การขนส่งขยะแบบนี้จะผิดกฎหมาย แต่บริษัทก็หาทางหลีกเลี่ยงกฎ จากเบลเยียม ทีวีเครื่องนี้ก็ถูกส่งต่อไปถึงประเทศไทย
.
🌊 บริษัทมักส่งอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และสินค้าอื่นๆ มาที่เอเชียเพราะการกำจัดที่นี่ถูกกว่า สุดท้ายคนงานที่นี่ก็ต้องเสี่ยงกับปัญหาสุขภาพ เพราะอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มีสารอันตรายอย่างปรอทที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ ในขณะที่ขยะอิเล็กทรอนิกส์ไหลเข้าสู่เอเชีย ขยะเสื้อผ้าก็ไหลเข้าสู่แหล่งน้ำในกานา
.
ไอน์สไตน์ อธิบายว่าสิ่งที่บริษัทหลายๆ แห่งทำก็เหมือนกับที่นักการตลาดส่วนใหญ่ทำนั่นแหละ คือสร้างจุดเบี่ยงเบนความสนใจ ให้โฟกัสที่เรื่องที่ดีๆ เพราะไม่อยากให้อีกด้านหนึ่งที่กำลังซ่อนอะไรไว้อยู่
.
ด้านมืดของ ‘บริโภคนิยม’
.
ขั้นตอนที่ 5 ของการสร้างผลกำไรสูงสุดคือการ ‘ควบคุมมากขึ้น’ (Control More)
.
โคลเอ อาซาม (Chloe Asaam) นักออกแบบจากกานาเห็นปัญหามากมายที่ชาวกานาต้องเผชิญจากขยะที่ถูกทิ้ง เมื่อผู้คนบริจาคเสื้อผ้าคืนให้บริษัท เสื้อผ้าเหล่านั้นก็ถูกส่งออกไปยังประเทศที่ห่างไกลอย่างกานา ฟังแล้วดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่ดี แต่ไม่ใช่อย่างนั้นซะทีเดียว เพราะมันเยอะมากๆ จนสุดท้ายกลายเป็นขยะที่ถูกทิ้งเกลื่อนลงในแม่น้ำและท้องทะเล
.
😱 “เรามีคนประมาณ 30 ล้านคนในกานา แต่มีเสื้อผ้าเข้ามา 15 ล้านชิ้นทุกๆ สัปดาห์”
.
เสื้อผ้าส่วนใหญ่ทำจากโพลีเอสเตอร์ซึ่งมีไมโครพลาสติกเยอะ ไมโครพลาสติกเหล่านี้ไหลลงสู่แหล่งน้ำและกลับเข้าสู่อาหารของเรา ทำลายทั้งระบบนิเวศและสุขภาพของมนุษย์ ขยะพวกนี้ต้องปนเปื้อนไม่ทางอากาศ น้ำ หรือดิน ไม่มีทางอื่น
.
🌏 เรื่องที่น่าเศร้าคือที่เมื่อ Amazon ประกาศนโยบายด้านสภาพภูมิอากาศ คอสตาเล่าว่า Amazon นับการปล่อยคาร์บอนจากสินค้าที่ขายเพียง 1% เท่านั้น สองปีหลังจากที่ประกาศนโยบาย การปล่อยมลพิษของบริษัทกลับเพิ่มขึ้น 40% อย่างไรก็ตาม
.
โดยคอสตาก็บอกว่าบนกระดาษมันดีมากเลย แต่ไม่ได้สร้างผลกระทบอย่างแท้จริง เธอยังคงแชร์และพูดถึงเรื่องนี้อยู่ตลอดระหว่างที่ทำงานที่ Amazon จนสุดท้ายวันหนึ่งเธอก็ถูกบริษัทปลดออกจากงานเพราะโดย HR บอกว่าเธอทำผิดกฎของบริษัทจึงสูญเสียสิทธิ์ในการเป็นทำงานให้ Amazon
.
หลังจากนั้น คอสตาตระหนักว่าการจะสร้างการเปลี่ยนแปลง เธอต้องเป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาล ตอนนี้เธอจึงลงสมัครสมาชิกสภาเมืองซีแอตเทิล
.
😭 กฎ 5 ข้อของการทำกำไรสูงสุดคือ 1) ขายให้มากขึ้น 2) สร้างขยะให้มากขึ้น 3) โกหกให้มากขึ้น 4) ปิดบังให้มากขึ้น และ 5) ควบคุมให้มากขึ้น
.
⚖️ คำแนะนำจากทุกคนที่ให้สัมภาษณ์คือ “ซื้อให้น้อยลง” อีกคำแนะนำคือให้ใส่ของที่อยากได้ไว้ในตะกร้าแล้วรออีกเดือน ถ้าหลังจากนั้นยังต้องการอยู่ค่อยซื้อ นอกจากนี้ยังมีข้อความถึงบริษัทต่างๆ ให้รับผิดชอบและวางแผนว่าจะจัดการผลิตภัณฑ์อย่างไรเมื่อหมดอายุการใช้งาน บริษัทไม่ควรผลักภาระให้ผู้บริโภค แต่ควรรับผิดชอบการจัดการขยะด้วยตัวเอง
.
สารคดีที่กระตุ้นสำนึกผู้บริโภคให้ตื่นรู้
.
Sasha หรือ AI ในสารคดีเรื่องนี้เป็นตัวแทนล้อเลียนบริษัทต่างๆ ที่ละเลยผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเพราะไม่มีแผนจัดการขยะ ซึ่งทำออกมาได้อย่างน่าสนใจมากๆ
.
มีประโยคหนึ่งตอนปิดท้ายที่ วีนส์ ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของ iFixit พูดเอาไว้อย่างจับใจว่า “ซื้อให้น้อยลง ชีวิตเป็นเรื่องของประสบการณ์และคนที่อยู่รอบๆ ตัวเรา สิ่งที่เรามีมาช่วยสนับสนุนให้ดีขึ้น แต่ไม่ใช่เป้าหมายในท้ายที่สุด ไม่ได้ชนะอะไรนะถ้าตายไปพร้อมกับสิ่งของมากที่สุด”
.
สารคดีเจาะลึกวิธีที่แบรนด์ต่างๆ กระตุ้นให้ผู้บริโภคซื้อของมากเกินจำเป็น เพื่อตอบสนองความต้องการนี้ บริษัทจึงผลิตสินค้ามากขึ้น ประเด็นอันน่าเศร้าคือยิ่งบริโภคมากขึ้นก็สร้างขยะมหาศาล และที่แย่ไปกว่านั้น บางบริษัทยังโกหก (หรือพูดความจริงไม่ได้ทั้งหมด) ว่าสินค้าของตนปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
.
ในสังคมทุนนิยม เราลืมคิดถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการกระทำของเราได้ง่ายๆ แต่สารคดีนี้เตือนให้ผู้บริโภคระมัดระวังการซื้อของมากขึ้น แม้ “Buy Now: The Shopping Conspiracy” จะสร้างความตระหนักรู้ได้ดี แต่ก็ยังไม่ได้สร้างทางออกที่ชัดเจนมากนัก
.
แน่นอนว่าการซื้อน้อยลง กฎหมายที่เข้มงวดต่อองค์กร หรือให้ความรู้แบบที่สารคดีทำ แต่ถ้าเพิ่มในส่วนของบทสนทนาว่าทางออกที่ทำได้เลยของผู้บริโภคต้องทำยังไง (เช่นอะไรรีไซเคิลได้ไม่ได้ มีวิธีสังเกตยังไง การบริจาคเสื้อผ้าที่ถูกวิธีต้องทำยังไง การตรวจสอบองค์กรเรื่อง Greenwashing มีวิธีไหม ฯลฯ)
.
ถ้าสารคดีนี้เพิ่มเติมวิธีแก้ปัญหาให้ผู้ชมนำไปปรับใช้และสร้างความเปลี่ยนแปลงในโลกเล็กๆ ของตัวเองได้ ก็จะมีความหมายมากขึ้น แต่โดยรวมแล้ว สารคดีนี้จะช่วยกระตุ้นประเด็นการพูดคุยที่มีความหมายได้อย่างดี แนะนำให้ดูเลยครับ
อ้างอิง :
https://www.leisurebyte.com/buy-now-the-shopping-conspiracy-review
https://decider.com/2024/11/20/netflix-buy-now-the-shopping-conspiracy-documentary-recycled-electronics-jim-puckett/
https://www.highonfilms.com/buy-now-the-shopping-conspiracy-2024-documentary-explained/
https://moviesr.net/p-buy-now-the-shopping-conspiracy-netflix-review-an-eye-opener
https://bgr.com/entertainment/this-eye-opening-netflix-documentary-reveals-how-corporations-turn-us-into-shopaholics/