แม้ไม่มีรายได้ แต่รายจ่ายมีทุกวัน : 5 อย่างที่ต้องเตรียมพร้อมด้านการเงิน เมื่อตลาดแรงงานไม่มั่นคง
“ทำไมคุณลุงถึงมาขับแกร็บละครับ?” ผมถาม
.
“ตอนนั้น Covid ระบาด ธุรกิจอาหารที่บ้านต่างจังหวัดเจ๊งหมด เพราะเขาไม่ให้คนมานั่งกินที่ร้าน ผมเลยตัดสินใจย้ายเข้ากรุงเทพฯ เพื่อหางานทำ มันไม่มีทางเลือก เพราะหนี้เราก็มี ไหนต้องดูแลเมีย ลูกสาวอีก” คุณลุงเล่า
.
🌓 “คนที่เขามีเงินเก็บก็ไม่ลำบากเท่าไหร่หรอก ก็อยู่รอกันไป ส่วนผมไม่มีเลย ไม่มีรายได้ปุ๊บ จบเลย”
.
📊 ผมคิดถึงบทสนทนานี้ตอนที่เห็นข่าวเรื่องอัตราการว่างงานที่สภาพัฒน์เปิดเผยบอกว่า ไตรมาส 3 ของปีนี้ มีผู้ว่างงานเฉลี่ย 414,000 คน เพิ่มขึ้น 3.2% ส่วนจำนวนผู้ว่างงานระยะยาวตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไปเพิ่มขึ้นถึง 16.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า อยู่ที่ 81,000 คน
.
โดยสาเหตุสำคัญผู้ตอบแบบสอบถามกว่า 65% ระบุว่าหางานไม่ได้ นอกจากนั้น 71.3% ยังระบุว่าไม่เคยทำงานมาก่อน โดยเกือบ 3 ใน 4 ของผู้ว่างงานระยะยาวยังอยู่ในช่วงอายุ 20-29 ปี
.
ประกอบกับข่าวเรื่องของการเลิกจากของบริษัทใหญ่ๆ หลายต่อหลายแห่งในช่วงที่ผ่านมา ทำให้อดคิดไม่ได้ว่าเศรษฐกิจบ้านเราตอนนี้ไม่ค่อยมั่นคงสักเท่าไหร่นัก
.
การมีงานในวันนี้ ไม่ได้การันตีว่าพรุ่งนี้จะมี หรือถ้ามีก็ไม่รู้ว่าวันต่อไปจะมีรึเปล่า
.
ปัญหาของเรื่องนี้คือสำหรับคนที่มีรายได้ทางเดียวเหมือนอย่างคุณลุงหรือพนักงานกินเงินเดือน วันหนึ่งเมื่อไม่มีงาน ก็ไม่มีรายได้ แต่เรายังต้องกินต้องใช้ ต้องจ่ายอยู่ตลอดเวลา หากไม่มีการเตรียมตัวเอาไว้สำหรับช่วงเวลาฉุกเฉินแล้วเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้นมา สถานการณ์อาจจะบีบบังคับให้เราต้องเป็นหนี้หรือขายทรัพย์สินที่เราถืออยู่เพื่อหาเงินมาหมุนต่อชีวิตก็ได้
.
เราไม่รู้หรอกว่าสิ่งที่ไม่คาดคิดจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ (ดูอย่าง Covid-19 หรือวิกฤติต่างๆ) แต่เมื่อมันเกิดขึ้นก็จะเกิดความเสียหายหนักเลยเมื่อไม่ได้เตรียมตัวรับมันไว้ก่อน
.
จังหวะที่ดีที่สุดในการเตรียมตัว คือจังหวะที่วิกฤติยังไม่เกิด แล้วมีอะไรที่ต้องเตรียมตัวบ้าง?
.
✅ การปรับเปลี่ยนมุมมองเรื่องค่าใช้จ่าย: เส้นแบ่งระหว่างความจำเป็นและความต้องการ
.
เมื่อทุกอย่างมีราคาแพงขึ้น การทบทวนงบประมาณจึงเป็นสิ่งสำคัญ แต่การตัดสินใจว่าอะไรคือสิ่งจำเป็นหรือความฟุ่มเฟือยนั้น ไม่ได้มีคำตอบตายตัว
.
สมาชิกฟิตเนสที่ดูเหมือนเป็นค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือยสำหรับคนหนึ่ง อาจเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับสุขภาพกายและใจของอีกคน
.
สิ่งสำคัญคือการชั่งน้ำหนักระหว่างความสุขในปัจจุบันกับเป้าหมายระยะยาว และสร้างสมดุลที่เหมาะสมสำหรับตัวเอง
.
อันไหนที่เราดูแล้วว่าไม่ได้จำเป็นก็ตัดออกก่อนเลย
.
✅ เงินสำรองฉุกเฉิน: รากฐานของความมั่นคงในยามวิกฤต
.
ไม่ว่าจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยหรือตกงาน หรือแม้แต่มีงานที่มั่นคงก็ตาม เงินสำรองฉุกเฉินคือเกราะป้องกันที่สำคัญมาก ถือเป็นถุงลมนิรภัยขั้นแรกในการลดแรงกระแทกหากเกิดวิกฤติขึ้นในชีวิต
.
🎯 การมีเงินสำรองอย่างน้อย 6 เดือนของค่าใช้จ่ายจำเป็น (หรือ 12 เดือนไปเลยถ้าอยากให้ปลอดภัย อย่างที่เห็นว่างานใหม่ก็ไม่ได้หาง่าย) อาจดูเป็นเป้าหมายที่ไกล แต่การสะสมทีละน้อยอย่างสม่ำเสมอจะนำไปสู่ความมั่นคงในระยะยาวได้
.
เงินก้อนนี้ควรอยู่ในบัญชีที่เข้าถึงได้ง่าย สภาพคล่องสูง ความเสี่ยงต่ำ และ รับเงินเฟ้อได้พอสมควร เช่น บัญชีออมทรัพย์ดอกเบี้ยสูง หรือ กองทุนรวมตลาดเงิน
.
✅ การจัดการหนี้: ก้าวสำคัญสู่อิสรภาพทางการเงิน
.
⛓️ หนี้ที่มีดอกเบี้ยสูง โดยเฉพาะหนี้บัตรเครดิต เป็นภาระที่ควรจัดการโดยเร็วที่สุด เพราะหากเมื่อไหร่ที่เกิดวิกฤติการเงินขึ้นมา สภาพคล่องหาย หนี้ดอกเบี้ยสูงเหล่านี้จะเป็นตัวฉุดให้การเงินของเราแย่ลงได้อย่างรวดเร็ว
.
การปล่อยให้หนี้คงค้างอาจทำให้เราต้องจ่ายดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น การปลดภาระหนี้จะช่วยให้เรามีพื้นที่ทางการเงินมากขึ้นสำหรับการออม หรือรับมือกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น
.
✅ การพัฒนาอาชีพ: การลงทุนในตัวเองที่ให้ผลตอบแทนยั่งยืน
.
🎨 ในช่วงเศรษฐกิจไม่ดี การว่างงานมักเพิ่มสูงขึ้น การเตรียมความพร้อมด้านอาชีพจึงเป็นสิ่งสำคัญ การรักษาความสัมพันธ์ในเครือข่ายอาชีพ การพัฒนาทักษะใหม่ หรือแม้แต่การศึกษาต่อ อาจเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าในระยะยาว แต่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบถึงผลกระทบต่อรายได้และภาระหนี้ที่อาจเกิดขึ้น
.
เมื่อมีงานทำ ให้ทำงานหนัก คุ้มค่ากับเงินของบริษัท เพื่อให้ตัวเองเก่งและพัฒนามากขึ้นด้วย
.
ระหว่างทางลองหาโอกาสใหม่ๆ สร้างรายได้สองสามสี่ห้าเพื่อรองรับช่วงเวลาแย่ๆ ไว้ด้วย ดูว่าเราสามารถใช้ทักษะของเราเพื่อแก้ปัญหาของใครได้บ้าง มีช่องทางสร้างรายได้ใหม่ๆ ที่ทดลองได้ง่าย (ที่ถูกกฎหมายด้วยนะ) ลองทำดูไปด้วยควบคู่กันไป
.
✅ มีสติ : ความกังวลเป็นเรื่องธรรมชาติ เรียนรู้ที่จะควบคุมสิ่งที่เราควบคุมได้
.
โลกการเงินเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ตลาดหุ้นผันผวน เศรษฐกิจขึ้นลง เงินเฟ้อแกว่งตัว ค่าเงินอ่อนค่าแข็งค่า ฯลฯ สิ่งเหล่านี้สร้างความวิตกกังวลสำหรับหลายต่อหลายคน แต่หลักปรัชญาสโตอิกสอนบทเรียนสำคัญว่า แทนที่จะกังวลกับสิ่งที่อยู่นอกเหนือการควบคุม เราควรทุ่มเทพลังงานไปกับสิ่งที่เราจัดการได้
.
🌟 มาร์คัส ออเรลิอุส เคยกล่าวว่า “เราอาจควบคุมให้ทุกอย่างเป็นไปตามใจเราไม่ได้ แต่เราเลือกได้ว่าจะรับมือกับสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างไร”
.
การประยุกต์หลักการนี้กับการเงินเริ่มจากการมองหาสิ่งที่เราควบคุมได้จริงๆ เช่น อัตราการออมของเราที่ทำอย่างสม่ำเสมอ การวางแผนการเงิน เงินสำรองฉุกเฉิน ลดการใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือย พัฒนาทักษะเพื่อเพิ่มรายได้ หรือการจัดการค่าใช้จ่ายอย่างเป็นรูปธรรม เช่น ทำรายรับรายจ่าย
.
เมื่อเปลี่ยนมุมมองแบบนี้ การวางแผนการเงินจะกลายเป็นชุดของการกระทำที่มีขั้นตอนชัดเจน แทนที่จะเป็นเพียงความกังวลลอยๆ ที่เราทำอะไรกับมันไม่ได้เลย
.
พัคโซยอน นักลงทุนชาวเกาหลีผู้เขียนหนังสือ “ความลับเรื่องเงินที่แม่อยากบอกลูกก่อนตาย” เคยเขียนเอาไว้ว่า
.
🌊 “เวลามีเงิน เราอาจไม่ทันสังเกต แต่พอไม่มีเงิน เราจะเห็นความ น่าสะพรึงกลัวและความสิ้นหวัง รายได้ประจำจึงสำคัญกว่าที่ลูกคิด ถ้าลูกไม่อยากถูกเงินครอบงำ ไม่อยากถูกบีบให้ต้องขายหุ้นทิ้งตอนขาดทุน ลูกต้องระวังอย่าให้สูญเสียความปลอดภัยทางการเงิน นี่คือรากฐานสู่อิสรภาพทางการเงิน”
.
เพราะฉะนั้นสำหรับคนที่ยังมีรายได้ อย่าลืมสร้างกันชนความปลอดภัยทางการเงินเอาไว้ด้วย
.
🌳 สุดท้ายนี้ แม้ความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยจะเป็นเรื่องธรรมชาติ แต่การมีแผนและเตรียมพร้อมจะช่วยให้เรารู้สึกควบคุมสถานการณ์ได้มากขึ้น การเข้าใจว่าความมั่งคั่งที่แท้จริงไม่ได้วัดจากตัวเลขในบัญชีเพียงอย่างเดียว แต่รวมถึงความสามารถในการปรับตัว การมีวินัย และการตัดสินใจอย่างชาญฉลาด จะช่วยให้เราก้าวผ่านช่วงเวลาท้าทายนี้ไปได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน 🌟
อ้างอิง : https://www.businessinsider.com/prepare-money-for-recession-2024-5
https://www.cnbc.com/select/how-to-financially-prepare-if-youre-worried-about-a-job-layoff/