“สุขมากขึ้น ร่ำรวยขึ้น และสงบมากขึ้น” : เปิดประสบการณ์ ‘No Spend Year’ ของนักข่าวฟรีแลนซ์ที่เคยใช้เงินฟุ่มเฟือยกับปี 2024 ที่ตัดค่าใช้จ่ายเหลือแค่ที่จำเป็น
💡 บางครั้งการค้นพบความจริงที่สำคัญที่สุดในชีวิตก็เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ไม่คาดคิด สำหรับ เมซี่ โบวิงดอน (Maisie Bovingdon) นักข่าวฟรีแลนซ์วัย 31 ปีที่อาศัยในประเทศอังกฤษ จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นในวันที่เธอกำลังจัดตู้เสื้อผ้าในปี 2023
.
เมซี่พบเสื้อผ้าที่ยังไม่เคยหยิบมาใส่ หลายตัวมีป้ายราคาติดอยู่ นอกจากนั้นก็มีใบเสร็จจากร้านอาหารหลายแห่งที่ดูฟุ่มเฟือยเกินจำเป็น ความรู้สึกผิดและการตำหนิตัวเองเริ่มถาโถมเข้ามาพร้อมกับความตระหนักว่า การใช้จ่ายแบบฟุ่มเฟือยด้วยอารมณ์ที่ไม่จำเป็นเหล่านี้คือส่ิงที่ซ้ำเติมปัญหาทางการเงินของเธอมาโดยตลอด
.
⚡ “ถ้าฉันไม่ใช้จ่ายฟุ่มเฟือยขนาดนี้ ฉันคงไม่ต้องทำงานหนักจนเบิร์นเอาต์เพื่อให้มีเงินพอจ่ายค่าใช้จ่ายพื้นฐาน” เธอคิด ความรู้สึกนี้นำมาสู่การตัดสินใจครั้งใหญ่ ลองท้าทายตัวเองให้ทำ ‘No Spend Year’ หรือปีแห่งการงดใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นตลอดปี 2024
.
เส้นทางสู่การเปลี่ยนแปลง
.
ในฐานะนักข่าวฟรีแลนซ์ รายได้ของเธอไม่แน่นอนและมักได้รับเงินล่าช้า ประเด็นนี้ส่งผลกระทบต่อการวางแผนการเงินพอสมควร
.
นอกจากนั้นแล้วค่าใช้จ่ายในครัวเรือนที่พุ่งสูงขึ้น ทั้งค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่าบริการต่างๆ รวมถึงค่าซ่อมบ้านที่ไม่คาดคิด เธอยกตัวอย่างการซ่อมรางน้ำที่รั่วซึ่งต้องจ่ายเงินมัดจำถึง 2,000 ปอนด์ ทำให้เงินเก็บที่สะสมมาร่อยหรอลงเรื่อยๆ
.
💰 วงจรอุบาทว์ของการใช้เงินเก็บจนหมด พึ่งบัตรเครดิต แล้วค่อยจ่ายคืนเมื่อได้รับเงิน ทำให้เธอรู้สึกวิตกกังวลทางการเงินอย่างหนัก แม้จะมีบ้านที่ผ่อนจ่ายกับแฟนและไม่มีหนี้สิน แต่ภาระค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตก็ทำให้เธอรู้สึกเครียดในประเด็นนี้อย่างมาก
.
วันที่ 1 มกราคม 2024 เธอตัดสินใจตัดค่าใช้จ่ายทุกอย่างที่ไม่จำเป็น เหลือเพียงค่าใช้จ่ายพื้นฐาน เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอาหาร และค่าผ่อนบ้าน
.
แม้ว่าในช่วงปี 2022-2023 การค้นหาคำว่า “no spend year” ใน Google จะเพิ่มขึ้นถึง 50% และแฮชแท็ก #NoSpendYear บน TikTok มียอดวิวกว่า 5 ล้านครั้ง แต่การตัดสินใจครั้งนี้ของเธอมาจากความกังวลด้านการเงินของตัวเองมากกว่า
.
✨ “ฉันรู้ตัวดีว่าฉันมีสิทธิพิเศษทางการเงิน และคนอื่นๆ อีกมากกำลังเผชิญความยากลำบากที่หนักกว่า” เธอยอมรับ “แต่ถ้าไม่ได้ท้าทายตัวเองในปีนี้ นิสัยการใช้จ่ายแบบเดิมอาจทำให้ฉันตกอยู่ในสถานการณ์ทางการเงินที่ร้ายแรง จนอาจไม่สามารถจ่ายค่าใช้จ่ายที่จำเป็นหรือชำระบัตรเครดิตได้”
.
เธอยกเลิกสมาชิกฟิตเนส คลาสพิลาทิส สมาชิกโรงภาพยนตร์และบริการสตรีมมิ่ง ขายรถยนต์เพื่อประหยัดค่าน้ำมันและประกันรถที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ งดซื้อของที่ไม่จำเป็น ทั้งกาแฟและซินนามอนโรลที่เคยซื้อตามอารมณ์ ทำเล็บแบบราคาแพง อาหารเดลิเวอรี่ มื้อฟุ่มเฟือยพร้อมค็อกเทลและการช็อปปิ้งตามอำเภอใจ
.
บททดสอบและการเรียนรู้
.
ในช่วงแรก การเปลี่ยนแปลงไม่ได้รู้สึกยากลำบากเท่าไหร่นัก การทำงานที่บ้านช่วยลดการใช้จ่ายโดยไม่ต้องจ่ายค่าอาหารกลางวันราคาแพงและค่าเดินทาง เธองดการทำงานที่ร้านกาแฟซึ่งมักทำให้สิ้นเปลืองวันละ 35 ปอนด์หรือมากกว่านั้นในแต่ละครั้ง (เพราะซื้อกาแฟและขนมต่างๆ) ลดการประชุมในลอนดอนเพื่อประหยัดค่าเดินทางไป-กลับ 10 ปอนด์ และงดซื้อของขวัญให้เพื่อน โดยหันมานัดเจอกันทานข้าวเลี้ยงวันเกิดแทน
.
แต่ความท้าทายที่ใหญ่ที่สุดคือการควบคุมนิสัยการช็อปปิ้ง โดยเฉพาะในฐานะนักข่าวแฟชั่นและความงาม เมื่อก่อนวันที่รู้สึกแย่หรือเบื่อ เธอมักหาข้ออ้างในการซื้อของเพื่อ “ให้รางวัลตัวเอง” แต่ความสุขชั่วครู่นั้นกลับกลายเป็นความรู้สึกผิดในเวลาต่อมา
.
เพื่อควบคุมการใช้จ่าย เธอสร้างรายการสิ่งของที่ต้องการหรือจำเป็น เช่น เครื่องซักผ้า ชุดชั้นใน เครื่องปั่นน้ำผลไม้ รองเท้าผ้าใบ ขาตั้งกล้อง และครีมบำรุงผิว หากยังต้องการสิ่งของนั้นหลังผ่านไปหลายเดือน เธอจึงจะพิจารณาซื้อ แต่สุดท้ายเมื่อเวลาผ่านไปของส่วนใหญ่ก็ไม่ได้จำเป็นถึงขั้นต้องซื้อ
.
📝 จากที่อยากได้ก็ซื้อ แต่ตอนนี้ก่อนจะซื้อแต่ละครั้งต้องคิดแล้วคิดอีกหลายรอบ : มีของที่คล้ายกันหรือทำหน้าที่คล้ายกันอยู่รึเปล่า จะใช้บ่อยแค่ไหน จะเป็นประโยชน์ต่องาน สุขภาพ หรือบ้านอย่างไร คุ้มค่ากับการใช้งานหรือไม่ และความสามารถในการจ่าย ฯลฯ
.
🎯 ในตอนแรกเธอจะคาดหวังว่าจะมีเงินเก็บก้อนใหญ่เมื่อสิ้นปีและอาจซื้อของแบรนด์เนมให้รางวัลตัวเองสักหน่อย แต่เมื่อเวลาผ่านไป ความคิดของเธอเริ่มเปลี่ยน ความสนใจในรางวัลที่เป็นวัตถุลดลง แทนที่ด้วยการให้ความสำคัญกับการลงทุนในสุขภาพและอนาคต
.
บางครั้งเธอรู้สึกหงุดหงิดเมื่อเห็นคนอื่นใช้เงินอย่างไม่ยั้ง แม้แต่กับแฟนของเธอเองที่สั่งอาหารเดลิเวอรี่ราคา 50 ปอนด์เพราะ “ขี้เกียจ” ทำอาหาร ทั้งที่วางแผนเมนูและงบประมาณค่าอาหารไว้แล้ว แต่เหตุการณ์เหล่านี้กลับนำไปสู่การพูดคุยเรื่องเป้าหมายทางการเงินร่วมกันมากขึ้น และทำให้เธอเริ่มสะท้อนดูเป้าหมายในชีวิตของตัวเองด้วย
.
บทเรียนและการเติบโต
.
ตอนนี้เกือบจะครบหนึ่งปีของ ‘No Spend Year’ แล้ว เมซี่เล่าว่าแม้จะไม่ได้เก็บเงินได้มากอย่างที่หวัง แต่น่าจะประหยัดได้หลายพันปอนด์ ซึ่งเงินส่วนนี้ก็ถูกนำไปใช้ในการซ่อมแซมบ้าน จ่ายค่าครองชีพที่สูงขึ้น และทริปในลิสต์ที่อยากไปช่วงปลายปี
.
“บางครั้งการบอกปฏิเสธกับแผนทางสังคมก็เป็นเรื่องยาก” เธอเล่า อย่างงานฉลองกับเพื่อนประจำปีที่มักจะจัดเต็มด้วยอาหารสามคอร์ส ไวน์ ค็อกเทล เกม และการตกแต่งอย่างหรูหรา ก็ต้องงดไปในปีนี้เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย เป็นการตัดสินใจที่ทั้งขมขื่นและแต่ก็มีความหมายในเวลาเดียวกัน
.
❤️ “ฉันภูมิใจที่รักษาความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับเพื่อนๆ และเกลียดที่จะต้องทำให้ใครผิดหวัง แต่ปีแห่งการไม่ใช้จ่ายนี้ทำให้ฉันได้เรียนรู้ที่จะเลือกสรรชีวิตทางสังคมและให้ความสำคัญกับการใช้เวลากับคนที่รัก” เธอสะท้อนความรู้สึกถึงการตัดสินใจครั้งนี้ “ไม่เพียงแต่โล่งใจที่ไม่ต้องใช้จ่ายโดยไม่จำเป็น แต่ฉันยังได้ตระหนักว่าใครคือคนที่ฉันเต็มใจจะลงทุนทั้งเวลา พลังงาน และเงินทอง และมันช่วยประหยัดพลังทางสังคมของฉันได้อย่างมาก”
.
🌟 การเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ที่สุดกลับเป็นเรื่องของจิตใจ “ก่อนหน้านี้ ฉันมักจะซื้อของเพราะความเบื่อหรือต้องการความสุขชั่วขณะ แต่ตอนนี้ฉันพบความสุขในสิ่งเรียบง่าย” เธอเล่า “การได้ใช้เวลากับคนที่รัก อาหารที่ทำเอง และการสนทนาที่มีความหมาย กลับให้ความสุขที่ยั่งยืนกว่า”
.
การท้าทายนี้สร้างวิถีชีวิตใหม่ แม้เธอตั้งใจว่าจะหยุด No Spend Year ในวันที่ 31 ธันวาคม แต่คงไม่หยุดทั้งหมด ในขณะที่ความเครียดทางเศรษฐกิจยังคงอยู่และค่าใช้จ่ายที่ไม่คาดคิดย่อมเกิดขึ้นได้เสมอ แต่ปีแห่งการไม่ใช้จ่ายได้ช่วยสร้างนิสัยทางการเงินที่ดีในระยะยาวสำหรับเธอได้
.
✍️ “สำหรับใครที่กำลังคิดจะเริ่มต้น No Spend Year ฉันอยากบอกว่ามันไม่ใช่แค่เรื่องการประหยัดเงิน แต่เป็นการปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์ที่คุณมีกับเงินและความสุขในชีวิต” เธอทิ้งท้าย “บางทีคุณอาจค้นพบว่า สิ่งที่มีค่าที่สุดในชีวิตกลับเป็นสิ่งที่ไม่ต้องใช้เงินซื้อเลย”
.
🌈 ในโลกที่หมุนไปด้วยการบริโภคและวัตถุนิยม บทเรียนจากการเดินทาง No Spend Year ของเธอไม่เพียงแต่เป็นเรื่องราวของการจัดการเงิน แต่ยังเป็นการค้นพบว่าบางครั้ง การมีน้อยลงกลับทำให้ชีวิตเต็มไปด้วยความหมายมากขึ้น และความสุขที่แท้จริงอาจไม่ได้อยู่ที่การมีมากขึ้น แต่อยู่ที่การรู้จักพอและเข้าใจคุณค่าของสิ่งที่มีอยู่
อ้างอิง :
https://inews.co.uk/inews-lifestyle/year-no-spending-happier-richer-calmer-3398833