อย่าให้สังคมกำหนดว่าเรา ‘ต้องมีอะไร’ ถึงจะมีความสุข
💰 จนกระทั่งวันที่เขาเสียชีวิตในวัย 82 ปี ไม่มีใครทราบเลยว่า 👴 เจฟฟรีย์ โฮลต์ (Geoffrey Holt) เป็นเศรษฐีที่มีทรัพย์สินเกือบ 140 ล้านบาท
.
ชีวิตในแต่ละวันของคนดูแลสวนของชุมชนบ้านเคลื่อนย้ายได้ในเมืองฮินส์เดล รัฐนิวแฮมป์เชียร์ แสนเรียบง่าย
.
🚜 แม้แต่รถยนต์สักคันก็ไม่มี เวลาไปซื้อของใช้ก็ขับรถตัดหญ้าคันเล็กๆ ไปร้านสะดวกซื้อ บางครั้งก็ถ้ามีเวลาเขาก็จอดรถตัดหญ้าริมถนน นอนอ่านหนังสือพิมพ์บนนั้น หรือไม่ก็นั่งดูรถวิ่งผ่านไปมา
.
เสื้อผ้าที่ใส่ก็ธรรมดา ในบ้านก็แทบไม่มีเฟอร์นิเจอร์ ทีวี หรือ คอมพิวเตอร์ด้วยซ้ำ ขาเตียงบ้านก็แทบจะทะลุพื้นบ้านอยู่แล้ว เอ็ดวิน สมิทธ์ (Edwin Smith) เพื่อนสนิทและผู้ดำเนินการมรดกของโฮลต์บอกว่า
.
“เขาเหมือนจะมีทุกอย่างที่ต้องการแล้วนะ แต่เขาไม่ได้อยากได้อะไรมากนัก”
.
มองจากภายนอกไม่มีใครรู้เลยว่าภายใต้วิถีชีวิตที่เรียบง่าย เขามีทรัพย์สินกว่า 3.8 ล้านเหรียญ หรือเกือบ 140 ล้านบาท ความลับตรงนี้ถูกเปิดเผยตอนที่เขาเสียชีวิต และในพินัยกรรมบอกว่าเงินตรงนี้เขาจะมอบให้ชุมชนที่เขาเคยอาศัยอยู่ (จำนวนประชากรราวๆ 4,200 คน) เพื่อเป็นประโยชน์ต่อด้านการศึกษา สุขภาพ นันทนาการ และวัฒนธรรมทั้งหมดเลย
.
.
ชีวิตที่ ‘ร่ำรวย’ ของเรามีหน้าตายังไง?
.
.
🤔 ใครบ้างไม่อยากรวย? ใคร ๆ ก็อยากรวยกันทั้งนั้นตราบใดที่เรายังต้องใช้ชีวิตที่หมุนรอบสังคมแห่งทุนนิยมไปที่ไหน/ทำอะไรล้วนต้องมีเงินเข้ามาเกี่ยวข้อง
.
จริงอยู่ที่เราทุกคนคงอยากรวย แต่ รามิตร เศรษฐี (Ramit Sethi) เจ้าของหนังสือขายดี “ผมจะสอนให้คุณรวย” (ติดหนังสือขายดีของ The New York Times ด้วย) และผู้จัดรายการ “How to Get Rich” มินิซีรีส์การเงินที่เพิ่งเข้าฉายบน Netflix ตั้งคำถามว่า
.
🆓 “เมื่อได้ยินคำว่า ‘ร่ำรวย’ คุณคิดถึงอะไร?”
.
หลายคนอาจจะบอกว่าการได้ทำในสิ่งที่ตัวเองอยากทำโดยไม่ต้องกังวลเรื่องเงิน บางคนอาจจะบอกว่าไม่อยากรู้สึกผิดเวลาใช้เงินเพื่อซื้อของให้ตัวเอง บางคนอาจจะบอกว่ามันเป็นเรื่องง่าย ๆ อย่างการได้ใช้เวลากับลูก ได้ไปรับลูกที่โรงเรียน หรืออย่างการได้ไปเที่ยวปีละ 2-3 ครั้ง
.
เพราะฉะนั้น คำว่า ’ร่ำรวย’ ของแต่ละคนอาจจะไม่เหมือนกัน มันอยู่ที่ว่าเป้าหมายในชีวิตของคุณและสิ่งที่คุณให้ความสำคัญคืออะไร และสิ่งที่สำคัญที่สุดในการจะไปถึงจุดนั้นได้ ไม่ใช่เรื่องรายได้ ไม่ใช่เรื่องงานเสริม แต่เป็นการควบคุมเรื่องการเงินของคุณให้อยู่หมัด
.
วิธีของเศรษฐีอาจจะแตกต่างจากคำแนะนำแบบดั้งเดิมสักหน่อย
.
เขาจะไม่บอกให้งดกาแฟหรือสิ่งที่คุณรักออกจากชีวิต อย่างถ้าคุณรักกระเป๋าถือแบรนด์เนมคุณก็ซื้อได้ แต่สิ่งที่สิ่งที่เขาบอกคือ “ให้รู้ว่าเมื่อไหร่ที่คุณ ‘พร้อม’ จะซื้อ” มากกว่า เป็นการใช้หลักจิตวิทยา ไม่ใช่สร้างความกลัวในการใช้เงิน แต่ให้จัดเป้าหมายในชีวิตก่อนต่างหาก เขาบอกว่า
.
☕ “คำแนะนำเรื่องเงินแบบดั้งเดิมเป็นเรื่องของการบอกว่า ‘ไม่’ : ไม่กินกาแฟ ไม่ไปเที่ยว ไม่ต้องสนุก ผมเชื่อว่าเรื่องเงินนั้นคือการบอกว่า “เยส” กับ ‘ชีวิตที่ร่ำรวย’ มากกว่า…เป็นการออมให้มากขึ้น ลงทุนให้มากขึ้น และใช้ให้มากขึ้นกับสิ่งที่คุณรัก”
.
เพราะฉะนั้นที่จริงแล้ว รถหรู บ้านหลังใหญ่ วิถีชีวิตอู้ฟู่ สำหรับบางคนนั่นคือชีวิตที่ ‘ร่ำรวย’ ของพวกเขา แต่เราไม่จำเป็นต้องมีชีวิตที่ ‘ร่ำรวย’ แบบนั้นก็ได้
.
.
อย่าให้สังคมกำหนดว่าเรา ‘ต้องมีอะไร’ ถึงจะมีความสุข
.
.
📈 จิม เฟอร์รี่ (Jim Ferry) คุณหมอที่ดูแลโฮลต์ในช่วงบั้นปลายของชีวิตบอกว่า สำหรับโฮลต์แล้วการขับรถตัดหญ้าไปทำงานตัดหญ้าทำสวนให้กับคนในชุมชนเหมือนเป็นความผ่อนคลายของชีวิตมากกว่า เป็นการแสดงความใส่ใจถึงคนรอบๆ ตัวที่เขารัก เป็นความสุขที่เรียบง่ายและเขาก็พอใจแล้ว
.
เขามีเงินมากพอที่จะใช้ชีวิตแบบสุขสบาย แต่เขากลับเลือกเส้นทางชีวิตแสนเรียบง่าย
.
บางทีนั่นอาจจะเป็นเคล็ดลับความสำเร็จของโฮลต์ก็ได้ ในยุคสมัยที่คนมุ่งมั่นแต่จะมีให้มากที่สุด อยากร่ำรวยมีชีวิตที่หรูหรา แต่การมีชีวิตแบบนั้น อยู่เพียงเพื่อมีทุกอย่าง ทำงานหาเงินเท่าไหร่ก็คงไม่มีทางพอ
.
แน่นอน โฮลต์ ไม่ใช่คนเดียวที่ทำแบบนี้
.
🧹 อีกตัวอย่างหนึ่ง (หลายคนน่าจะเคยเห็นผ่านตามาบ้าง) คือพนักงานทำความสะอาดคนหนึ่งชื่อว่า โรนัลด์ รีด (Ronald Read) ที่เสียชีวิตในวัย 92 ปีและบริจาคเงินทั้งหมดของตัวเองที่เก็บมาทั้งชีวิตกว่า 4.8 ล้าน (175 ล้านบาท) ให้กับองค์กรการกุศล ในปี 2014
.
ทั้ง โฮลต์ และ รีด ถือเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนว่าความสำเร็จทางด้านการเงินนั้นขึ้นอยู่กับนิสัยทางการเงินที่ถูกต้องมากกว่าแค่ระดับการศึกษา อาชีพที่ทำ รายได้ หรือความเฉลียวฉลาด แน่นอนว่าสิ่งเหล่านั้นยังเป็นปัจจัยที่มีส่วนเกี่ยวข้อง แต่สิ่งที่ขาดไม่ได้ถ้าอยากสำเร็จทางการเงินคือกรอบคิดเกี่ยวกับการเงินที่ดี มีความอดทน ควบคุมการใช้จ่ายของตัวเองได้ ไม่เกินตัว และแน่นอนคิดถึงภาพในระยะยาว
.
หลายคนอาจจะคิดว่า แล้วโฮลต์หรือรีด มีความสุขไหมระหว่างที่พวกเขามีชีวิตอยู่? พวกเขามีเงินขนาดนั้น ควรจะซื้อบ้านที่สบายๆ อยู่ ขับรถที่ดีสักหน่อย หรือใส่เสื้อผ้าที่ดูดีสักหน่อยก็คงไม่เป็นไรหรอก
.
แน่นอน มันเป็นไปได้ที่สิ่งเหล่านั้นจะทำให้พวกเขามีความสุขมากขึ้น แต่เราก็ไม่มีทางรู้ได้หรอก เพราะที่จริงพวกเขาอาจจะมีความสุขอยู่แล้วก็ได้
.
อลิสัน โฮลต์ (Alison Holt) อดีตบรรณารักษ์น้องสาววัย 81 ปีของโฮลต์ บอกว่าพี่ชายของเธอเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องการลงทุนจากพ่อและเท่าที่จำได้คือพี่ชายเป็นคนที่ไม่เคยใช้เงินสุรุ่ยสุร่ายเลย
.
อลิสันบอกว่าพี่ชายของเธอมีความสุขโดยไม่จำเป็นต้องมีของเยอะแยะมากมาย เป็นคนเงียบๆ ไม่ชอบเป็นจุดสนใจของคนอื่นๆ และไม่ชอบที่ย้ายบ้านไปที่ต่างๆ ด้วย ครั้งหนึ่งเคยได้รับข้อเสนองานที่รายได้เยอะกว่าเดิม แต่ก็ปฏิเสธไปเพราะต้องไปอยู่เมืองอื่น
.
แม้ทั้งคู่จะไม่เคยพูดถึงเรื่องเงินสักเท่าไหร่ แต่เขาก็จะถามน้องสาวบ่อยๆ ว่าต้องการให้ช่วยอะไรก็บอกได้
.
“ฉันแค่รู้สึกเศร้านิดหนึ่งที่เขาไม่ได้ตามใจตัวเองสักหน่อย”
.
ดูเหมือนว่าแม้จะไม่ได้มีทุกอย่างที่สังคมมองว่า ‘ควรต้องมี’ เพื่อให้มีความสุข เขาก็มีชีวิตที่มีความสุขดีอยู่แล้ว
.
.
แนวคิดที่เต็มไปด้วยอิสระ
.
.
⭐ มอร์แกน เฮาเซิล (Morgan Housel) นักเขียนหนังสือขายดี “The Psychology of Money” เขียนไว้ในบล็อกของตัวเองว่า
.
“โลกบอกคุณ – แม้กระทั่งด้วยเสียงกระซิบ – ว่าทุกคนควรต้องการสิ่งเดียวกัน : บ้านหลังใหญ่, รถยนต์หรู, วุฒิการศึกษาระดับสูง, ใบประกาศนียบัตร, สโมสรทางสังคม ฯลฯ
.
ส่วนใหญ่ผมชอบสิ่งเหล่านั้น แต่คุณต้องตระหนักว่าสิ่งที่ดึงดูดเราเป็นการวิ่งตามสถานะมากแค่ไหน เพราะมันแตกต่างจากความสุขอย่างสิ้นเชิง”
.
พูดอีกอย่างหนึ่งคือ เราต้องแยกให้ออกระหว่าง สิ่งที่ทำให้เรามีความสุขจริงๆ กับ สิ่งที่เราอยากได้เพียงเพราะมันนำมาซึ่งสถานะและภาพลักษณ์ที่ดีในสังคมเท่านั้น
.
อีกตัวอย่างของคนที่ตัดสินใจได้อย่างอิสระและไม่ปล่อยให้โลกบอกว่าคุณต้องมีอะไรคือ ชัค ฟีนีย์ (Chuck Feeney)
.
เขาคือผู้ก่อตั้ง Duty Free Stores ที่เสียชีวิตด้วยวัย 92 ปี เมื่อปลายปี 2023
.
ตลอดชีวิตของเขาได้บริจาคเงินของตัวเองเกือบทั้งหมด 8,000 ล้านเหรียญ (295,000 ล้านบาท) และกันเงินเพื่อใช้ในช่วงบั้นปลายชีวิตเพียง 2 ล้านดอลลาร์ (70 ล้านบาท) อาศัยอยู่ในอพาร์ตเมนต์เล็กๆ และใช้ชีวิตแบบเรียบง่าย เท่านั้น
.
เราอาจจะคิดว่า ฟีนีย์ คือคนเข้าขั้นประหยัดจนตระหนี่ขี้เหนียวรึเปล่า?
.
ที่จริงแล้วเขาเคยลองใช้ชีวิตหรูหราขั้นสุดมาแล้ว หนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์เขียนถึงชีวิตของเขาในช่วงทศวรรษ 1980 เมื่อเขารวยใหม่ๆ ว่า
.
“เขามีอพาร์ตเมนต์หรูในนิวยอร์ก ลอนดอน และปารีส รวมถึงบ้านพักตากอากาศหรูในแอสเพนและฝรั่งเศส เขาคลุกคลีกับพวกคนที่ร่ำรวยมหาศาล นั่งเรือยอร์ชและเครื่องบินส่วนตัว ถ้าเขาต้องการอะไร เขามีเงินพอจะซื้อได้”
.
แต่นั่นไม่ได้ทำให้เขามีความสุข
.
ฟีนีย์ บอกว่าการช่วยเหลือผู้อื่น คือความสุขของเขา
.
“ผมมีความสุขเมื่อสิ่งที่ผมทำกำลังช่วยเหลือผู้คน และไม่มีความสุขเมื่อสิ่งที่ผมทำไม่ได้ช่วยเหลือใคร”
.
ความสุขของแต่ละคนก็แตกต่างกันออกไป ชีวิตที่ร่ำรวยของเราทุกคนก็ไม่เหมือนกัน
.
🌈 โฮลต์ รีด หรือ ฟีนีย์ ต่างเดินตามวิถีทางของตัวเอง และหยุดเดินตามแบบแผนที่คนอื่นและสังคมบอกเขาว่าควรจะชอบหรือควรใช้ชีวิตอย่างไร
.
พวกเขาค้นพบสิ่งที่ทำให้มีความสุขและร่ำรวยในแบบของตัวเอง
.
อาจดูเป็นการใช้ชีวิตแสนประหยัด แต่มันก็แนวคิดที่เต็มไปด้วยอิสระ
.
เป็นบทเรียนอันล้ำค่าที่ชวนตั้งคำถามว่า ‘สิ่งที่ทำให้เรามีความสุขจริงๆ คืออะไรกันแน่?’
อ้างอิง :
https://www.nytimes.com/2023/11/23/us/new-hampshire-hinsdale-millionaire-geoffrey-holt.html
https://collabfund.com/blog/frugal-vs-independent/
https://www.forbes.com/sites/stevenbertoni/2012/09/18/chuck-feeney-the-billionaire-who-is-trying-to-go-broke/?sh=ea53197291c7
https://www.nytimes.com/2023/10/09/business/charles-f-feeney-dead.html
https://www.bbc.com/news/uk-northern-ireland-67059503
https://edition.cnn.com/2023/10/09/business/billionaire-duty-free-shoppers-founder-charles-feeney-dead/index.html
https://givingpledge.org/pledger?pledgerId=195