Ideaflow : หนังสือธุรกิจที่บอกว่า ‘ไอเดียที่ดี’ เกิดขึ้นเพราะลงมือทำ
ในหนังสือเล่มใหม่ของ Jeremy Utley และ Perry Klebahn ชื่อ “Ideaflow : The Only Business Metric That Matters” สองผู้อำนวยการของ d.school (ชื่อเต็มคือ The Hasso Plattner Institute of Design ก่อตั้งขึ้นในปี 2005 ซึ่งนับเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมของ Stanford และได้รับการยกย่องว่าเป็นสถาบันที่มีหลักสูตร Design Thinking ที่ดีที่สุดในโลก) ได้บอกเอาาไว้ว่าสิ่งหนึ่งที่คนเข้ามาเรียนจะรู้สึกตกใจคือแนวคิดที่ว่า ‘ไอเดียที่ดี’ ไม่ได้จู่ ๆ คุณนั่งอยู่แล้วเกิดขึ้นเหมือนเปิดไฟ แต่ ‘ไอเดียที่ดี’ เกิดขึ้นได้จากการสร้างไอเดียจำนวนมหาศาลและทดสอบมันจนกว่าจะได้ผู้ชนะ
Utley และ Klebahn เชื่อว่าคุณสามารถฝึกตัวเองเพื่อจะทำให้เชี่ยวชาญในเรื่องนี้มากขึ้นได้ด้วย ความคิดสร้างสรรค์นั้นสามารถวัดได้จากจำนวนไอเดียที่แปลกใหม่ที่คน/กลุ่มคนสามารถสร้างขึ้นได้เมื่อเผชิญปัญหาในระยะเวลาที่ถูกตั้งเอาไว้ พวกเขาเรียกหน่วยวัดนี้ว่า ‘Ideaflow’ และอธิบายต่อด้วยว่ามันเป็น ‘ตัววัดของธุรกิจเพียงอย่างเดียวที่สำคัญ’ ทั้งคู่กล่าวว่า
หนังสือเล่มนี้เป็นเครื่องเตือนใจที่มีประโยชน์ว่าแนวคิดใหม่ๆ มีความสำคัญมาก ๆ ในช่วงเวลาแห่งความไม่แน่นอนและภาวะเศรษฐกิจตกต่ำแบบนี้
Ideaflow ยังเป็นสิ่งที่คุณทำได้เมื่อคุณอาจจะอยากผัดวันเมื่อเจอปัญหาที่ไม่อยากแก้อีกด้วย
“ไอเดียเป็นเพียงการเชื่อมต่อระหว่างสองสิ่งที่ล่องลอยอยู่ในหัวของคุณอยู่แล้ว”
แล้วเราจะทำยังไงให้มันเกิดขึ้นหล่ะ?
- ฝึกทุกวันเลย – ทุกเช้าตื่นขึ้นมาเขียนไอเดีย 10 อย่างกับปัญหาที่เรามีอยู่เมื่อวาน อย่างเช่นว่าก่อนนอนเราอาจจะคิดว่า “ทำยังไงถึงจะขอหัวหน้าขึ้นเงินเดือนได้นะ?” หรือ “จะพาลูกไปเที่ยวไหนที่ในงบที่ตั้งเอาไว้ไม่ให้บานปลาย?” พอตื่นขึ้นมาก่อนทำงานก็เขียนไปเลยครับว่ามีอะไรบ้างที่ทำได้ ไม่ต้องห่วงว่าจะดีไม่ดี เขียนไปเลย
- เขียนไอเดียของตัวเองเสมอ – เมื่อไหร่ก็ตามที่มีไอเดียเกิดขึ้น อาจจะเป็น Quotes เรื่องราว สถิติบางอย่าง หรือบทความที่อ่านมาก็เขียนลงไปในบันทึกของตัวเอง แทนที่จะพยายามหา ‘คำตอบ’ กับปัญหาที่มีอยู่ในชีวิต ลองสร้างทางออกที่มีให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เขียนว่าอาทิตย์ที่ผ่านมาเป็นยังไง สิ่งที่เรียนรู้ สิ่งที่ได้ลองทำ สิ่งที่น่าสนใจ เพราะการจดทำให้คุณมีไอเดียในสต็อคและอาจจะหยิบมาใช้เมื่อไหร่ก็ได้ Utley และ Klebahn บอกว่าสินค้าหรือบริการแต่ละอย่างที่กว่าจะประสบความสำเร็จได้ต้องใช้ไอเดียกว่า 2,000 ไอเดียโดยเฉลี่ยเลยทีเดียว
- ใช้ Innovation Sandwich เมื่อคิดเป็นกลุ่ม – เวลาการประชุมเพื่อสร้างไอเดีย ส่วนใหญ่มันจะกลายเป็นมีไอเดียหนึ่งที่น่าสนใจแล้วทุกคนก็ไปรุมไอเดียนั้นแล้วก็เริ่มทำ สิ่งนี้อาจจะไม่เพียงพอและไม่ได้สร้างผลลัพธ์ที่ดีมาก ในหนังสือแนะนำเทคนิค Innovation Sandwich ที่ทีมรับปัญหาหรือโจทย์ไปก่อนประชุม แล้วหลังจากนั้นก็มานำเสนอไอเดียกันครับ แต่ยังไม่ต้องสรุป แล้วเอาปัญหากลับไปแก้ต่อ นัดเจอกันอีกครั้งเพื่อตกผลึก โดยการประชุมนี้ควรทำในกลุ่มไม่ต้องใหญ่มาก 3-5 คน เพื่อจะให้ไอเดียนั้นมีการกระจายและพูดกันอย่างทั่วถึง
ในหนังสือบอกเอาไว่ว่า “แม้ว่าคุณจะถูกมองว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญในสายนั้น คุณก็ไม่ได้มีสิทธิ์ที่จะตัดสินใจว่าไอเดียไหนควรจะไปต่อเมื่อไม่มีข้อมูลจริง ๆ ไม่ว่าใครก็ตาม เพราะมีสิ่งที่ไม่ทราบเยอะมาก”
แล้วจะทดสอบไอเดียยังไงดีหล่ะ?
- เร็วที่สุดและใช้ทรัพยากรน้อยที่สุด – ลองโฆษณาสินค้าที่ไม่มีอยู่จริงดูว่าจะมีคนซื้อไหม หรือ ไปตั้งบูทให้ทดลองสินค้าว่าจะมีคนสนใจรึเปล่า อย่าตัดสินจากแบบสำรวจ แต่ให้ตัดสินจากการกระทำของลูกค้า
- ทดสอบหลาย ๆ ไอเดีย – เราจะเริ่มรู้ทิศทางว่าควรไปทางไหนโดยการใช้ไอเดียที่ทดสอบแล้วเวิร์กหรือไม่เวิร์ก ทดลองให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้พร้อม ๆ กัน ลองดูว่าไอเดียไหนทำให้รู้สึกตื่นเต้นอยากลองทำ
- ปรับทิศทางเมื่อได้ข้อมูลจากการทดสอบ – การเอาไอเดียที่ ‘ผิดพลาด’ ไปทดสอบกับลูกค้าจะสร้างผลตอบรับที่กลับมาอย่างไม่น่าเชื่อ เราจะเห็นการตอบสนองและข้อมูลที่ไม่เคยรู้มาก่อน
ทำยังไงให้สามารถสร้างไอเดียได้เยอะ ๆ หล่ะ?
อย่างแรกแน่นอนคือการเก็บ input หรือข้อมูลเยอะ ๆ ไม่ว่าจะจากคนรอบข้างหรือสื่อที่มีประโยชน์ต่าง ๆ ที่แตกต่างกันหลายแขนง
- หาคนที่แตกต่างกัน พื้นฐาน ความรู้ ความเชี่ยวชาญ อยู่รอบ ๆ ตัวเพื่อเก็บเกี่ยวความคิดจากคนเหล่านี้ผ่านการสนทนา
- ถ้าเป็นบริษัทก็ต้องหาวิธีคุยกับลูกค้าและรับฟีดแบคจากผู้ใช้งานจริง ๆ
- ลองใช้บอร์ดที่ทุกคนสามารถเอาไอเดียมาแปะเชื่อมกันได้ที่บริษัท
- หากลุ่มคนที่ ‘พอรู้จัก’ หรือมีความสัมพันธ์ที่ไม่ได้ใกล้ชิดมากเพื่อหา input เพราะคนที่เราพอจะรู้จักแต่ไม่สนิทมากจะช่วยทำให้ไอเดียและแนวคิดที่แตกต่างจากเพื่อนสนิทหรือคนในครอบครัว
- ใช้คำถาม ‘เราจะทำยังไงให้…” กับปัญหาที่มีอยู่ เช่น “เราจะทำยังไงให้บริษัทเติบโตมีลูกค้าถึงเป้าหนึ่งล้านบาทภายในสิ้นปี?” “เราจะทำยังไงให้ลูกค้ามีความสัมพันธ์ที่ดีกับบริษัทมากกว่านี้?” ฯลฯ
- เดินเล่นเรื่อยเปื่อย ใช้สิ่งที่เห็นเพื่อเชื่อมกับปัญหาที่เรากำลังเผชิญอยู่ เห็นทางม้าลายแล้วรู้สึกว่า ทำไมคนถึงไม่หยุด ทั้ง ๆ ที่มีทางม้าลายตรงนี้ มันไม่เด่น หรือคนไม่สนใจ นั่นเป็นเหตุผลเดียวกับที่สินค้าเราวางบนชั้นแล้วไม่เด่นรึเปล่านะ คนเลยเดินผ่านไปโดยไม่หยิบมามอง เราอาจจะต้องทำป้ายอะไรให้เด่นกว่านี้ ฯลฯ
- ถอยออกมาจากตรงนั้น กั้นเวลาให้หยุดทำอย่างอื่น เช่นไปเจอคน ไปอ่านหนังสือ เมื่อติดอยู่กับปัญหาของการสร้างไอเดีย เราต้องอนุญาตให้ตัวเองพักและถอยออกมาเพื่อจะทำให้สมองโล่งครับ ไปเดิน ออกกำลังกาย นอนพัก งีบหลับ หรือคุยกับคนรอบ ๆ ข้างถือว่าได้ประโยชน์ไม่น้อย
หนังสือเล่มนี้เป็นไกด์ที่ดีสำหรับใครก็ตามที่ทำงานมาถึงจุดหนึ่งแล้วรู้สึกว่าตัวเองติดอยู่กับที่ สร้างไอเดียใหม่ ๆ ไม่ได้ หรือคนที่อยากมีแนวคิดที่มาเปลี่ยนการทำงานของตัวเองหรือบริษัทที่ทำงานอยู่ให้ดีขึ้น เรียกว่าเป็น ‘practical guide’ ที่ทำตามได้จริง ๆ และมีตัวอย่างในหนังสือเยอะมาก อย่าง Timbuk, James Dyson, Prehype, Jon Beekman, Patagonia และอีกเยอะเลย
เป็นหนังสือธุรกิจที่ไม่ได้เกี่ยวกับกลยุทธ์ วิธีการทำงาน หรือการปฏิบัติงานต่าง ๆ ให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น แต่เป็นหนังสือธุรกิจที่คล้ายกล่องเครื่องมือในการสร้างไอเดียให้เกิดขึ้นจำนวนมหาศาลในเวลาอันสั้นแถมยังได้ทดสอบไอเดียเหล่านั้นด้วย แล้วคุณจะเข้าใจว่าการสร้างไอเดียและความคิดสร้างสรรค์เป็นเรื่องที่ฝึกกันได้ อย่าไปคิดว่ามันต้องเป็นจังหวะที่หลอดไฟในหัวสว่างขึ้นมาแล้วทุกอย่างจะจุดติด ไม่ใช่เลย นอกจากนั้นแล้วมันยังจะช่วยทำให้เราไม่ต้องผัดวันกับการเผชิญหน้ากับปัญหาไม่ว่าจะส่วนตัวหรือกับทีม